18 views

ครม. พิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนบูรณาการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ-สวัสดิการรายบุคคล


คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เสนอ มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อมูลการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล
เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ ดังนี้

1. ให้กรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นเจ้าภาพหลัก และให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (สขญ.) สนับสนุนการดำเนินงานการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ/สวัสดิการผู้สูงอายุทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่างๆ โดยมีจำนวน 43 รายการ 23 หน่วยงาน (10 กระทรวง) สนับสนุนข้อมูลรายบุคคลเพื่อจัดทำฐานข้อมูลสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

สาระสำคัญ ตามที่ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) รายงาน ดังนี้

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 48 วรรคสอง บัญญัติให้บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 11 (11) บัญญัติให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการพยายามยกระดับให้เป็นระบบบำนาญถ้วนหน้า โดยเน้นให้สิทธิแก่ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐและใช้เกณฑ์อายุเป็นหลักประกันพื้นฐาน ในขณะที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ข้อ 6 (4) กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่สามารถช่วยให้ทราบว่า ผู้สูงอายุหนึ่งคนได้รับสิทธิสวัสดิการอะไรบ้าง และมีหน่วยงานใดบ้างที่ให้สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุด้านใด ดังนั้น หากมีการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุและทุกหน่วยงานบูรณาการข้อมูลร่วมกันจะสามารถลดปัญหาการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อน         อีกทั้ง ยังสามารถนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเกิดประโยชน์ร่วมกัน

2. ในการประชุม กผส. ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ได้มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการจัดทำประเด็นข้อมูลเพื่อพัฒนางานด้านผู้สูงอายุไทย (คณะอนุกรรมการฯ) ศึกษาข้อมูลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุของประเทศไทยที่ได้รับ ทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่าง ๆ
ที่รัฐจัดให้ เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

3. คณะอนุกรรมการฯ ในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 67 มีมติรับทราบการขับเคลื่อนฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุของแต่ละหน่วยงาน (ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ศึกษาและรวบรวมข้อมูลสิทธิ/สวัสดิการที่ผู้สูงอายุจะได้รับ ทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้ มาในเบื้องต้น และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมในที่ประชุม) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุเพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูลให้ครบถ้วนและรับทราบผลการหารือแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุ (Personal Data) ตามสิทธิ/สวัสดิการที่ได้รับ ร่วมกับ สพร. เพื่อเตรียมความพร้อมในการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ โดย สพร. ยินดีให้ความร่วมมือในการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุฯ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการได้มาของข้อมูลที่จัดส่งให้กับเจ้าภาพที่สามารถรวบรวมมาตั้งต้นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมวัตถุประสงค์ในการใช้ประโยชน์ และเห็นควรให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นทางการผ่านกลไกของหน่วยงานราชการตามขั้นตอน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูล เห็นควรเสนอ กผส. เพื่อมีมติเห็นชอบการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ในการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล (Data Sharing) ควรพิจารณา เฉพาะฐานข้อมูลที่จำเป็นและเป็นฐานข้อมูลที่มีความพร้อม โดยพิจารณาจากหน่วยงานและผู้รับผิดชอบฐานข้อมูล (หน่วยงานราชการ) ในการรับและส่งข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นผู้ควบคุมข้อมูลที่มีบทบาทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

4. ในการประชุม กผส. ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 67 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) (ในขณะนั้น) เป็นประธานการประชุมมีมติเห็นชอบการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคลฯ โดยบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ และมี สพร. และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ฯ สนับสนุนการดำเนินงาน ซึ่งจากผลการรวบรวมข้อมูลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุของประเทศไทยที่ได้รับ ทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้ โดยสรุปมี 43 รายการ 23 หน่วยงาน (10 กระทรวง) ได้แก่

1. กระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

3. กระทรวงคมนาคม สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม

4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชและองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

5. กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม

6. กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

7. กระทรวงยุติธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมและกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

8. กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้

9. กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

10. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

ทั้งนี้ กผส. มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวมีสิทธิสวัสดิการที่เป็นตัวเงินจำนวนมากและกระจายไปในหลายโครงการ ทำให้ต้องบูรณาการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ จึงควร
มีมติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถรวบรวมและจัดส่งข้อมูลให้กรมกิจการผู้สูงอายุสามารถวางแผนงานเชิงนโยบายต่อไป

5. กระบวนการดำเนินงานการจัดทำฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่จะได้รับรายบุคคล  โดยบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ กรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 9,116,400 บาท

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1. มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุตามสิทธิ/สวัสดิการที่ได้รับทำให้ทราบว่าผู้สูงอายุหนึ่งคนได้รับสิทธิ/สวัสดิการอะไรบ้าง โดยสามารถนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายด้านผู้สูงอายุ ตลอดจนการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิ/สวัสดิการอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

2. ทำให้ทราบข้อมูลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุของประเทศไทยที่ได้รับ ทั้งในรูปแบบเงินสวัสดิการและบริการต่างๆ ที่รัฐจัดให้ เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่ขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ

ความสำคัญและสถานการณ์ด้านผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

  • จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว การเกิดลดลง ประชากร วัยทำงานลดลง ในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น โดย พ.ศ. 2567 มีประชากรสูงอายุ จำนวน 13.60 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.94 ของประชากรไทย (กรมการปกครอง 31 ธ.ค. 67)
  • เด็กเกิดใหม่เพียง 4.62 แสนคนเท่านั้น (กรมการปกครอง 31 ธ.ค. 67) ในปี พ.ศ. 2576 คาดการณ์ว่าจะมีประชากรสูงอายุจำนวน 18.38 ล้านคน หรือร้อยละ 28 ของประชากร ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด
  • ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่เพียงพอที่จะทราบว่า ผู้สูงอายุหนึ่งคนได้รับสิทธิสวัสดิการอะไรบ้าง และมีหน่วยงานใดบ้าง ที่ให้สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุด้านใด ดังนั้น หากมีการจัดทำฐานข้อมูลสวัสดิการผู้สูงอายุ สามารถนำมาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายในการดูแลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเกิดประโยชน์ร่วมกัน

“60 TOP UP รัฐจัดให้” สวัสดิการเป็นตัวเงิน (In – cash) 24 รายการ

  • สวัสดิการที่ได้รับประจำทุกเดือน 10 รายการ

1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 11,770,897 คน

       อายุ 60-69 ปี : 600 บาท/เดือน – อายุ 70-79 ปี : 700 บาท/เดือน

       อายุ 80-89 ปี : 800 บาท/เดือน – อายุ 90 ปีขึ้นไป : 1,000 บาท/เดือน

       – กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 10,789,993 คน (31 ม.ค. 67) กทม. 966,812 คน
(31 ม.ค. 67) เมืองพัทยา 14,092 คน (7 ก.พ. 67)

2. เงินบำนาญ/เงินดำรงชีพ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขั้นต่ำ 600 บาท/เดือน 316,980 คน
(6 มี.ค. 67) จำแนกเป็น

       – รับเงินบำนาญรายเดือน 51 คน (ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินของแต่ละบุคคล)

       – รับเงินดำรงชีพขั้นต่ำเดือนละ 600 บาท 316,929 คน (เงินที่จ่ายให้สมาชิกรายเดือนแทนเงินบำนาญ จ่ายให้จนกว่าเงินในบัญชีของสมาชิกจะหมด)

3. บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

เงินบำนาญ : 900-5,000 บาท/เดือน 796,966 คน (ข้อมูล 1 ปี: ปี 66) จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย
60 เดือนสุดท้าย

4. บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) (สปส.)

เงินบำนาญ : 900-5,000 บาท/เดือน 188,083 คน (ข้อมูล1 ปี: ปี 66) ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือ 15 ปี เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ

5. บำเหน็จ/บำนาญตามมาตรา 40 (ลูกจ้างนอกระบบ) (สปส.) 39,351 คน (ข้อมูล 1 ปี: ปี 66) ผส. 60 ปีขึ้นไป รับเงินบำเหน็จชราภาพ (ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ตอบแทน)    

6. บำเหน็จ/บำนาญ ข้าราชการ 1,845,161 คน (7 ก.พ. 67)

       – เงินบำนาญ : 10,000-50,000 บาท/เดือน : 874,447 คน 
       – กรณีลูกจ้างประจำขอรับบำเหน็จรายเดือน : 7,000-30,000 บาท/เดือน : 970,714 คน

7. บำเหน็จ/บำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (สถ.) 36,000 คน (7 ก.พ. 67) : เงินบำนาญ : 10,000-80,000 บาท/เดือน

8. บำเหน็จ/บำนาญข้าราชการ กทม. (กทม.) 21,739 คน (31 ม.ค. 67) : เงินบำนาญ : 10,000-50,000 บาท/เดือน

9. สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 1,016,231 คน (31 ม.ค. 67) ได้รับเงินก้อนครั้งเดียวตามจำนวนเงินที่สมาชิกส่งพร้อมเงินสมทบจากภาครัฐและเงินชดเชย

10. เบี้ยยังชีพคนพิการ (พก.) 1,202,434 คน (29 ก.พ. 67) ทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับเงินเบี้ยความพิการ 800 บาท/เดือน

  • สวัสดิการที่ได้รับเป็นรายครั้ง 14 รายการ

1. กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ (ผส.) 30,000 บาท/คน : 113,652 คน (31 ม.ค. 67)

2. การสงเคราะห์ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก (ผส.) 3,000 บาท/ครอบครัว (ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี) 49,068 คน (31 ม.ค. 67)

3. กู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ไม่เกิน 60,000 บาท/คน : 37,064 คน (31 ม.ค. 67)

4. การสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ (พก.) 3,000 บาท/คน (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ครอบครัว/ปี) 26,095 คน (31 ม.ค. 67)

5. การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สป.พม.) 337 คน (31 ม.ค. 67) เช่น กรณีเสียชีวิตช่วยเหลือ 6,000 บาท/คน ฯลฯ

6. การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ฯ (สป.พม.) 0 คน (22 ก.พ. 67) เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พักชั่วคราว และค่าการรักษาพยาบาล ฯลฯ

7. การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน (สป.พม.) 3,000 บาท/ครอบครัว : 121,179 คน (31 ม.ค. 67)

8. การช่วยเหลือให้กลับภูมิลำเนาเดิม (พส.) 1 คน (31 ม.ค. 67) จ่ายตามจริงโดยคำนึงถึงการประหยัด

9. การสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง (พส.) 3,000 บาท/ครอบครัว (ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี) : 4,977 คน (31 ม.ค. 67)

10. การสงเคราะห์ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว (พส.) 2,000 บาท/ครอบครัว (ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี) : 418 คน (31 ม.ค. 67)

11. เงินทุนประกอบอาชีพ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบ จากปัญหาเอดส์ (พส.) 5,000 บาท/คน :
20 คน (31 ม.ค. 67)

12. การเยียวยาผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (สค.) 3,000 บาท/คน : 0 คน (ปี 58 – 30 พ.ย. 66)

13. การช่วยเหลือสตรีหรือครอบครัวที่ประสบปัญหาทางสังคม (สค.) 3,000 บาท/ครอบครัว (ไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี) 6,629 คน (ปี 63 – 5 ก.พ. 67)

14. การช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา (กคส.) 3,590 คน (1 ต.ค. 64 – 31 ม.ค. 67) เช่น การรักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท ฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 20,000 บาท ฯลฯ

ข้อมูลจาก: กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ วันที่ 8 ส.ค. 67


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส