25 views

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเร่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอาเซียน “Single Destination” หลังการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28


นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Unity in Motion : Shaping ASEAN’s Tourism Tomorrow” ณ โรงแรมฮิลตัน เมืองยะโฮร์บาห์รู สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีนายเตียง คิง สิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมฯ รัฐมนตรีท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากชาติสมาชิกอาเซียน ได้แสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนร่วมกันที่จะผลักดันให้อาเซียน เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก ผ่านการดำเนินโครงการ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียน ปี พ.ศ. 2559 – 2568 โดยปัจจุบันอาเซียนได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วกว่าร้อยละ 70 ของโครงการทั้งหมด

นายสรวงศ์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนผ่านวิสัยทัศน์ “IGNITE Thailand” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว ด้วยการออกนโยบายการอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน การส่งเสริมมาตรการการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองและเมืองน่าเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวมถึง การให้ความสำคัญกับการนำเสนอการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับจุดหมายปลายทางในอาเซียน พร้อมกันนี้ยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “ASAEN – India Forum : Journey of Opportunities” ในช่วงปี พ.ศ. 2568

นายสรวงศ์ ยังได้เข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการ (Coffee Chat) กับนายเดเมียน เฟิร์ช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ ซึ่งในการหารือดังกล่าว ผู้บริหารของ Agoda ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการเดินทางที่ให้บริการในการจองต่างๆ อาทิ โรงแรม ที่พัก บัตรโดยสารเครื่องบิน และกิจกรรมท่องเที่ยว ได้แจ้งความประสงค์ที่จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อส่งเสริมข้อริเริ่มการเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวและกีฬา “Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025” 2025 เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและกีฬาระดับโลก” ด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรม และนโยบายที่มุ่งสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทย รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศสำหรับคนไทย

นายสรวงศ์ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 24 โดยที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการพัฒนาการด้านการท่องเที่ยวภายใต้แผนงานด้านความร่วมมือท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม ปี พ.ศ. 2564 – 2568 ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้มีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศบวกสาม ดังนี้

1. ไทย – จีน ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตรา ไทย – จีน ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 6,702,554 คน ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

2. ไทยยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น เพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อติดต่อธุรกิจ ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2569 (3ปี) รวมถึงได้การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น ให้แก่ 93 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งรวมถึงจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

นายสรวงศ์ ยังได้พบกับนางทีนา จามาลัดดิน หัวหน้าผู้แทนคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน ของประเทศมาเลเซีย (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) นายสรวงศ์ ได้ให้ความมั่นใจกับคณะนักธุรกิจ USABC ถึงความต่อเนื่องด้านนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และการลงทุน (Ease of Doing Business) โดยเฉพาะการถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยของกองถ่ายทำต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนเงินคืนร้อยละ 30 สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ส่วนการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ประชาสัมพันธ์และกล่าวเชิญชวนคณะนักธุรกิจ USABC ร่วมผลักดันการทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2568

นายสรวงศ์ ได้หารือกับนายอัลวิน แทน รัฐมนตรีแห่งรัฐกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และกระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน และเยาวชนแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ จากการหารือ ไทย-สิงคโปร์ พร้อมส่งเสริมความร่วมมือ
เพื่อขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตาม Roadmap ผ่านกลไกคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ ไทย–สิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ ตลอดจนผลักดันให้ไทยและสิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดของภูมิภาค และเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาท่าเรือสำราญซึ่งเป็นหนึ่งในแผนย่อยการท่องเที่ยวเรือสำราญทางน้ำของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในการหารือ สิงคโปร์ได้ให้ความสนใจกับมาตรการการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa-Free) ในขณะที่ไทยอยากเรียนรู้โมเดลธุรกิจการจัดทำ Integrated Resort ของสิงคโปร์ และ ในวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ ไทย – สิงคโปร์ ครั้งที่ 2 ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

นายสรวงศ์ ร่วมลงนามโครงการการดำเนินงาน (Implementation Program) ของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์
ปี พ.ศ. 2568 – 2573 ร่วมกับนางคริสตินา การ์เซีย ฟราสโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ ซึ่งมุ่งส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด การพัฒนาและการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ การแลกเปลี่ยนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดร่วมกัน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2568 ไทยยินดีเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ไทย – ฟิลิปปินส์

นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 12 ณ โรงแรมฮิลตัน เมืองยะโฮร์บาห์รู สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนายสรวงศ์ ได้นำเสนอการดำเนินมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเพื่อการท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจระยะสั้น ทำให้ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเดินทางมาไทยจำนวน 2,129,149 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.73 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2566 (จำนวน 1,628,542 คน) สำหรับแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างอาเซียน – อินเดีย มีดังนี้

1. การนำเสนอข้อริเริ่มของไทยและข้อเสนอแนะในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ

2. การส่งเสริมการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาการตลาดท่องเที่ยวกับอินเดีย

3. ประเทศไทย โดยกรมการท่องเที่ยว มีแผนจัดการฝึกอบรมทักษะภาษาฮินดีให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยว

4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Two – way Tourism ซึ่งเห็นควรให้อินเดียจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอาเซียนให้เป็นที่รับรู้ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวอินเดียมากขึ้น รวมถึงพิจารณาเพิ่มเที่ยวบินตรง และการจัดทำแพ็คเกจการท่องเที่ยวไปยังเมืองหลักและเมืองรองของอินเดีย และอาเซียน 

นายสรวงศ์ ได้พบหารือกับนายเตียง คิง สิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม แห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย นายสรวงศ์ กล่าวว่า นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่สำคัญของไทยและในปี พ.ศ. 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมาไทย 4.95 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวชาวจีน ในการนี้ รัฐมนตรีฯ มาเลเซียได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดการเดินทางที่นักท่องเที่ยวมาพำนักค้างคืน เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และยินดีผลักดันการอำนวยความสะดวกในการเดินทางร่วมกับไทยและชาติสมาชิกอื่นๆ ในอาเซียน 

นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซีย ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว ไทย – มาเลเซีย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน นายสรวงศ์ ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว ไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 1 ในช่วงต้นปี 2568 อีกทั้ง ไทยและมาเลเซียยังมีความร่วมมือภายใต้ Six Countries, One Destination ผ่านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน การส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ การจัดทำแพคเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรม Self-drive Tourism ในพื้นที่ศักยภาพที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อขยายความเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความเชื่อมโยงในภูมิภาค (ASEAN Connectivity) ต่อไป

นอกจากนี้ นายสรวงศ์ ได้มอบหมายให้นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – รัสเซีย ครั้งที่ 4 โดยนายจักรพล เปิดเผยว่า จากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น ทำให้มีนักท่องเที่ยว ชาวรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวน 1.74 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ. 2566 (1.48 ล้านคน) และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวศักยภาพที่สำคัญด้วย สำหรับการส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต ได้แก่

1. การส่งเสริมความร่วมมือร่วมกับรัสเซียในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในไทยและกระจายเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น

2. การเสนอให้อาเซียนและรัสเซียผลักดันการท่องเที่ยวในรูปแบบ Two – way Tourism ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และร่วมกับ Influencer เพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในเมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยวมากขึ้น ควบคู่ไปกับการจัดทำ Fam – Trip (เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อนำเสนอจุดขายของชุมชนที่มีความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมไมซ์) เพื่อให้ผู้ประกอบการของรัสเซียเดินทางมาเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในอาเซียน 

3. การส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านการท่องเที่ยวระหว่างอาเซียน – รัสเซียในอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุน

การใช้นวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงการตลาดในการเพิ่มการรับรู้ การเข้าถึง เพิ่มการไหลเวียนของนักท่องเที่ยวระหว่างกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส