Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

851 views

กระทรวงแรงงาน ชี้แจงร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่และมุ่งเน้นการขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง


จากกรณีที่ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเรื่องการผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ …) พ.ศ. …ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวเนื้อหาสำคัญโดยหลักๆ จะเน้นแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์คุ้มครองลูกจ้างให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของนายจ้างหรือสถานประกอบการถือว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนายจ้างต้องแบกรับภาระมากขึ้นและในขั้นตอนการพิจารณาไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่

นายนิวัฒน์  ตังหงส์  อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้ดำเนินการยกร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเป็นการแก้ไขบทบัญญัติบางประการให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันเนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป และได้เปิดการรับฟังทางเว็บไชต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (www.labour.go.th)

“ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากเป็นการขยายการคุ้มครองลูกจ้างมากขึ้น แต่มีบางส่วนที่เห็นว่าอาจเพิ่มภาระให้นายจ้าง ซึ่งก็ได้นำผลการรับฟังมาวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำคำชี้แจงเหตุผลและเปิดเผยให้ประชาชนทราบ”

สำหรับบทบัญญัติบางประการ อาทิ การเพิ่มสิทธิค่าชดเชย 400 วันให้ลูกจ้างที่อายุงาน 20 ปีขึ้นไปและถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด อาจจะเป็นการเพิ่มภาระให้นายจ้างบ้างเล็กน้อย แต่ลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างมายาวนาน 20 ปีขึ้นไป ถือเป็นผู้ที่ภักดีต่อองค์กรและทำคุณประโยชน์ให้แก่นายจ้างอย่างมาก ดังนั้นสิทธิค่าชดเชย 400 วันดังกล่าวถือเป็นการตอบแทนคุณงามความดีแก่ลูกจ้าง และเป็นเงินให้กับลูกจ้างที่มีอายุมากและเกษียณอายุตามข้อบังคับของนายจ้างใช้ดำรงชีพภายหลังจากออกจากงานไปแล้วและอาจหางานใหม่ได้ยาก และทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลงพื้นที่เร่งสร้างความเข้าใจ รวมทั้งชี้แจงหลักการ เหตุผลของกฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายแก่นายจ้าง ลูกจ้างด้วย

ที่มา : กระทรวงแรงงาน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส