42 views

ไทยพร้อมรองรับ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” มีผลใช้บังคับ 23 ม.ค. 68


เปิดไทม์ไลน์กฎหมายสมรสเท่าเทียม

กว่า 20 ปีที่มีความพยายามผลักดัน “สมรสเท่าเทียม” ให้เป็นกฎหมายบังคับใช้ในประเทศไทยจนประสบผลสำเร็จในที่สุด โดยไทยจะกลายเป็นชาติที่ 37 ของโลกและเป็นชาติแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

  • เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยมีร่างกฎหมายที่ถูกนำเข้าพิจารณาในสภา 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม. สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน) เป็นผู้เสนอ 2. ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ 3. ร่าง พ.ร.บ. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 11,611 คน เป็นผู้เสนอ 4. ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคประชาธิปัตย์ กับคณะเป็นผู้เสนอ

ใจความหลักสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยแก้ไขกฎหมายเดิมที่อนุญาตให้แต่เฉพาะบุคคล “เพศชาย” กับ “เพศหญิง” จดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น เป็นการสมรสระหว่างบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม และสภาผ่านความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม วาระที่ 1 ก่อนพิจารณาผ่านวาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67

  • วุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 67
  • เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 67

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย

  • เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จากกฎหมายสมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย”
  • สถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรส
    ที่เป็นชายและหญิง
  • กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่า หากมีผู้ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายใหม่ จะยังไม่สามารถทำได้ทันทีระหว่างที่กฎหมายเพิ่งประกาศใช้ต้องรอให้พ้น 120 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 68 เป็นต้นไป จึงจะสามารถไปจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งใหม่ที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียม และในกรณีที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานราชการแจ้งต่อ ครม. ภายใน 180 วัน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจ ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะรายละเอียดกฎหมายที่ผูกพันทั้งอาญาและแพ่ง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย เป็นต้น

สาระสำคัญ “สมรสเท่าเทียม”

  • บุคคล 2 ฝ่ายทุกเพศสามารถสมรสกันได้ โดยต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
  • สถานะเป็น “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภริยา”

คู่รักหลากหลายทางเพศ จะได้สิทธิจากกฎหมาย

  • 1. สิทธิการได้ดูแลชีวิตของคู่รักของตน
  • คู่รักสามารถจัดการสิ่งต่างๆ ให้ได้ อาทิ การดูแลตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกรักษาพยาบาล การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์ในกรณีที่คน ๆ นั้นไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิในการจัดการศพได้
  • 2. สิทธิในการแต่งงาน
  • สามารถจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยได้ รวมถึงมีกฎหมายรองรับพิธีกรรมอื่น ๆ เช่น สิทธิการหมั้น การจดทะเบียนสมรส รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส รวมไปถึงการเป็นตัวแทนทางกฎหมาย สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม และสิทธิได้รับประโยชน์จากสวัสดิการจากรัฐ (อาทิ สวัสดิการข้าราชการ รับประโยชน์ทดแทนตามสิทธิประกันสังคม) นอกจากนี้ยังได้สิทธิในการขอสัญชาติอีกด้วย
  • 3. สิทธิการเป็นพ่อแม่ของลูก (ตามกฎหมาย)
  • กฎหมายสมรสเท่าเทียม คู่รัก LGBTQIA+ สามารถเป็นผู้ปกครองของบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
  • 4. สิทธิในการหย่าร้าง
  • สิทธิในการแต่งงานที่เท่าเทียม นำมาซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมกันหากคู่รักใช้ชีวิตมาจนจุดแยกจากกัน
    จะมีสิทธิในการฟ้องหย่า สิทธิในการฟ้องร้องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น สิทธิการเลี้ยงดูบุตร
    การเรียกค่าเลี้ยงชีพตามแต่กรณีการหย่าร้างที่เกิดขึ้น และสิทธิในสินสมรส

ประเทศไทยจุดพลุจัดงานเทศกาล Pride Month 2024 กระตุ้นการท่องเที่ยว

(31 พ.ค. 67) รัฐบาล (นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี) สนับสนุนทุกความหลากหลาย ร่วมมือภาครัฐและเอกชนจัดงานฉลอง “Bangkok Pride Festival 2024”

(1 มิ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมขบวน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” ภายใต้แนวคิด “Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” จัดยิ่งใหญ่ด้วยขบวนพาเหรดใจกลางกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบธงสัญลักษณ์ Pride Month ให้กับเครือข่ายต่างจังหวัด จำนวน 19 เครือข่าย
เปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ ปักหมุดไพรด์ทั่วประเทศ ตลอดทั้งเดือน มิ.ย. เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นหมุดหมายปลายทางสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก และสร้างประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสีรุ้ง

  • ให้เยาวชนผู้มีความหลากหลายและเครือข่ายผู้จัดงานไพรด์ทั่วประเทศไทย (Nationwide Pride) ไปนำเสนอความพร้อมและคุณสมบัติในการผลักดันสู่การจัดงาน InterPride World Conference 2025
  • ยกระดับงานไพรด์สู่มาตรฐานการจัด World Pride เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride 2030

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส