Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

391 views

กรมประมง แจงการบริหารจัดการประมงไทย เป็นความรับผิดชอบของ “รัฐ” เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอนาคต


นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการประมงไทย ว่าประมงไทยในอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี ประสบปัญหาและมีการร้องเรียนถึงความเดือดร้อนของชาวประมงในหลายด้าน อาทิ ปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากร ปริมาณสัตว์น้ำที่น้อยลง สัตว์น้ำหลายชนิดหายไป เรือประมงมีจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการทำการประมงมากเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ หรือภาวะ Overfishing ในน่านน้ำไทย ซึ่งผลศึกษาวิจัยพบว่าอ่าวไทยมีการทำการประมงเกินกำลังผลิตของธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์น้ำหน้าดิน มีการใช้เกินไปถึงร้อยละ 32 นอกจากนั้นเรือประมงบางส่วนออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำขาดการควบคุม ทำให้มีผลกระทบภาพลักษณ์ของการประมงไทย


แนวทางการจัดการประมง จำเป็นต้องมีข้อมูลจำนวน และขนาดของเรือประมงที่แท้จริง รัฐบาลได้ออกคำสั่ง คสช ที่ 53 /2559 เพื่อให้กรมเจ้าท่าสามารถงดการจดทะเบียนเรือไว้เป็นการชั่วคราว และออกคำสั่ง คสช.ที่ 22/2560 เพื่อให้มีการตรวจวัดและจัดทำอัตลักษณ์เรือประมงที่มีการขนาดมากกว่า 10 ตันกรอส เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเรือประมงที่ถูกต้อง จนสามารถ Clean up เรือประมงภายในระยะเวลาอันสั้น (3 ปีที่ผ่านมา) ซึ่งได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง สมาคมประมง ตลอดจนผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมง โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบในฐานะ “รัฐเจ้าของธง” ที่กำหนดเงื่อนไขในการให้สัญชาติของตนแก่เรือ ในการจดทะเบียนเรือในอาณาเขตของตน และใช้สิทธิชักธงของตน

 อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า จากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กำหนด แนวทางในการออกใบอนุญาตทำการประมงให้สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำการประมงและปริมาณผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยใช้จุดอ้างอิงเป็นฐานในการพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการความรับผิดชอบในฐานะ “รัฐชายฝั่ง” ซึ่งการดำเนินการทั้ง 2 ส่วนเป็นบทบัญญัติภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 และมีผลผูกพันที่ประเทศไทยต้องปฎิบัติตาม ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2554 กรมประมงได้นำข้อมูลเรือที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และแนวทางในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ มาใช้ในการออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ใน 2 รอบปีการประมงที่ผ่านมา เพื่อให้การลงแรงประมงอยู่ภายใต้ปริมาณผลผลิตสูงสุดที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน


ปัจจุบัน กรมประมงพิจารณาออกใบอนุญาตประมงพาณิชย์ให้กับ ชาวประมงทุกคน ที่มาขอรับใบอนุญาตและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้การบริหารจัดการวันทำการประมง เพื่อให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จะจัดสรรในการทำประมงเพียงพอสำหรับทุกคน ปัจจุบันประเทศไทยมั่นใจได้ว่ามีเรือประมงพาณิชย์ที่มีการทะเบียนเรือและมีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จำนวนทั้งสิ้น 10,566 ลำ และมีเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตัน ที่มีการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าทั้งสิ้น 27,925 ลำ

สำหรับกรณีสหภาพยุโรปได้ให้ “ใบเหลือง” แก่ประเทศไทย อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรณีใบเหลืองเป็นเพียงการเตือนให้ประเทศไทยรู้ว่ามีปัญหาอะไร ซึ่งไม่ใช่การเจรจาต่อรองกับต่างประเทศ หรือมีปัญหาการส่งออกสินค้าประมงของไทยที่หลายฝ่ายกังวล โดยในรอบปี 2558 – 2560 ที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าประมงของไทยยังคงมีปริมาณ 1.5 – 1.6 ล้านตัน/ปี และมีมูลค่าสินค้าสูงถึง 220,000 ล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าปลาทูน่าและกุ้ง แต่หากในอนาคตประเทศไทยไม่มีการบริหารจัดการประมงและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังปริมาณการส่งออกของไทยอาจจะลดลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส