20 views

นายกฯ บูรณาการทุกภาคส่วนพัฒนาพื้นที่ จ.ภูเก็ต รองรับการเติบโตการท่องเที่ยวทุกมิติ


ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมบูรณาการการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว พร้อมรับฟังภาพรวมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและแนวทางการแก้ปัญหาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมถึงผลักดันภูเก็ตเป็น Premium Destination และรองรับกิจกรรมขนาดใหญ่ (Big Event) โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุม โดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวรายงานสรุปว่า

  • รายได้ส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตมาจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ ร้อยละ 92.9 รายได้จากการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2567 มีมูลค่ากว่า 481,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 24 เป็นอันดับ 1 ของภาคใต้
  • มีนักท่องเที่ยว ในปี พ.ศ. 2567 จำนวน 12,898,898 คน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 14.14
    มีเที่ยวบินตรงจากประเทศต่างๆ 21 ประเทศ รวมกว่า 53 เมือง ปัจจุบันมีเที่ยวบินเฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 2,572 เที่ยว หรือ 368 เที่ยวบินต่อวัน
  • มีท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ขาเข้า – ขาออก เฉลี่ย 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ รวมถึงท่าเรือมารีน่ารองรับเรือยอร์ชที่ทันสมัยในระดับโลกถึง 5 แห่ง มีเที่ยวเรือขาเข้า – ขาออก เฉลี่ย สัปดาห์ละ 13 ลำ

ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นำเสนอประเด็นการพัฒนาพื้นที่ที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน จำนวน 6 ประเด็น ได้แก่

ด้านการจัดการจราจร ขอเร่งรัดและขอรับการสนับสนุน ดังนี้

(1) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่อยู่ระหว่างดำเนินการของกระทรวงคมนาคม 4 โครงการ ได้แก่ 1) อุโมงค์กะทู้ – ป่าตอง ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2) ทางพิเศษ เมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3) การขยายช่องจราจร ทางหลวง 4027 (พารา-เมืองใหม่) ดำเนินการโดยกรมทางหลวง และ 4) การก่อสร้างทางยกระดับเมืองใหม่ – สามแยกเข้าสนามบินภูเก็ต ดำเนินการโดยกรมทางหลวง

(2) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดที่ดำเนินการโดยจังหวัดภูเก็ต ได้แก่ 1) สามตระกูลภูเก็ต (เอกวานิช กุลวานิช และศักดิ์ศรีทวี) บริจาคที่ดินให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ เส้น ภก. 3030 – อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ความยาว 6 กิโลเมตร กว้าง 12 เมตร 2) การปรับปรุงถนนสายรองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด 18 สายทาง 3) การปรับปรุงถนนสายรอง อ้อมหลังวัดท่าเรือไปเชิงทะเล (ทางหลวง 4025 – ภก. 3030) ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง

(3) โครงการแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ตด้วยระบบไฟจราจร AI ดำเนินการโดยแขวงทางหลวงภูเก็ต

(4) ระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้ารางเบา

ด้านการจัดการน้ำ ได้แก่ 1) น้ำดี (น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค) การให้บริการประชาชน ติดลบ 0.5 คิว/ปี ซึ่งหากไม่มีโครงการบริหารจัดการความจุของอ่างเก็บน้ำให้ดีอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ 2) น้ำเสีย ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสีย 85,862 คิว/วัน ซึ่งยังไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด โดยจังหวัดได้ร่วมกับ China Water Environment Group ประเทศจีน ในการศึกษาสำรวจและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย 10 แห่ง โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการต่อไป

ด้านการจัดการขยะ จังหวัดภูเก็ตมีปริมาณขยะโดยเฉลี่ย 1,100 ตันต่อวัน ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตกำลังก่อสร้าง เตาเผาตัวที่สองที่จะกำจัดขยะได้ 500 ตันต่อวัน เพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ด้วยเหตุนี้จังหวัดจำเป็นต้องมีศูนย์กำจัดขยะแห่งใหม่ (แห่งที่สอง) ที่จะดำเนินการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณสวนป่าบางขนุน อำเภอถลางต่อไป

ด้านการจัดการภัยพิบัติ 1) น้ำท่วม จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนโดยใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม คลองท่าเรือ – เกาะแก้ว และคลองนาลึก ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง งบประมาณ 263,600,000 บาท ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่งและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน 2) ดินถล่มจังหวัดภูเก็ต ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงการเกิดดินถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามการศึกษาพื้นที่เสี่ยงของกรมทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะในพื้นที่กะรนและพื้นที่กมลา ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ตและศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต

ด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการดำเนินโครงการสร้าง ความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วยระบบกล้องวงจรปิด และการสร้างระบบรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ผ่านอาสาสมัครต่างๆ

ด้านการรักษาสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์มะเร็ง – รังสีรักษา โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่

ผลักดัน จ.ภูเก็ต “พรีเมียมการท่องเที่ยว”

นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการส่วนราชการในจังหวัดภูเก็ตและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวว่า ลงพื้นที่มาติดตามงาน ซึ่งอย่างที่เห็นปีที่แล้วมีนักท่องตัวเลขใกล้กลับเข้ามาเหมือนเดิมก่อนช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว ถือว่ามีการปรับตัวที่ดีนักท่องเที่ยวประมาณเกือบ 1/4 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยากจะให้เน้นเรื่อง “พรีเมียมท่องเที่ยว” รวมทั้งอยากให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น เพราะอยากจะสนับสนุนชาวบ้านที่ทำมาค้าขายตรงนี้ให้เต็มที่และแนวทางในการทำ “โบ้ทแท็กซี่” (Boat Taxi) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและการเดินทางในทุกท่าเรือของจังหวัดภูเก็ต หากเอกชนเข้ามาช่วยอย่างเต็มที่รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ทั้งใบอนุญาตหรือท่าเรือที่ปลอดภัย ก็สามารถเกิดอีกธุรกิจขนาดใหญ่ในภูเก็ตได้

  • ด้านการเดินทางในพื้นที่ภูเก็ต ถนนหลักสาย 402 เมื่อมีปริมาณคนใช้มากขึ้น จึงสั่งการว่าการก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณแล้วขอให้เร่งให้แล้วเสร็จเพราะจะช่วยประชาชนได้เป็นอย่างมาก เช่น
    มีการก่อสร้าง 19 จุด ในพื้นที่ 25 กิโลเมตร ต้องใช้ความร่วมมือจากจังหวัดและตำรวจ ซึ่งต้องสื่อสารกับประชาชน รวมทั้ง Mass Transport ที่เชื่อมต่อเมื่อนักท่องเที่ยวถึงสนามบินเข้าสู่ตัวเมือง ก็มีความจำเป็นซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่ได้แปลว่าแย่งหรือทำลายบางอาชีพลง แต่เป็นการปรับตัวให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ โดยการจัดการคมนาคมในระยะสั้นซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะกว่าจะก่อสร้างแต่ละจุดแล้วเสร็จใช้เวลาหลายปี พร้อมกับการส่งเสริมรถขนส่งมวลชนไฟฟ้า หรือบัสอีวี เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น โดยต้องดูว่าการเพิ่มจำนวนใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่ จึงอยากให้พิจารณาเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการใช้งบประมาณโดยไม่เห็นผลต่าง
  • ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นโยบายเรื่อง Soft Power กำลังจะเน้นย้ำในเรื่องการจัดให้ประเทศไทยมีเทศกาลด้านการท่องเที่ยวใหญ่ๆ ในพื้นที่ภูเก็ต โดยตำรวจท่องเที่ยวอยากให้มีการจัดการประชุมแยกออกมาเพราะอยากให้มีการจัด (Reset) ระบบใหม่ ควรที่จะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพราะการท่องเที่ยวถ้ามีการใช้ AI หรือเทคโนโลยี ให้สามารถเช็คข้อมูลได้ทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรอยากให้ภาครัฐซัพพอร์ตอย่างไรขอให้มาพูดคุยกัน เพราะรายได้ของการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลัก จึงต้องโฟกัสตรงนี้และดูแลให้ดี
  • การปราบผู้มีอิทธิพล ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจโฟกัสเรื่องนี้จริงจังเพราะไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับการดูแล หรือผู้มีอิทธิพลทำให้ประชาชนเป็นหนี้เป็นสิน ถูกขู่เข็ญเรื่องเงินทอง เรื่องการโดนหลอก ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีปัญหา จึงอยากเน้นย้ำให้ใช้กฎหมายอย่างจริงจังเด็ดขาด เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว ไม่อยากให้มีการละเว้น จะทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยและประเทศชาติมีระเบียบมากขึ้น
  • การแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ อยากให้พื้นที่จังหวัดจัดทำการรณรงค์ การคัดแยกขยะ 

นายกฯ เปิดงาน Thailand International Boat Show A Luxury Lifestyle Event 2025

เวลา 11.45 น. ณ ท่าเทียบเรือ ภูเก็ต ยอร์ช ฮาเว่น จังหวัดภูเก็ต นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน Thailand International Boat Show A Luxury Lifestyle Event 2025 โดยมี นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรม
การท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยร่วมงาน

นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มาที่จังหวัดภูเก็ต และได้มาร่วมงานพิธีเปิด รัฐบาลได้สนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากของประเทศ เป็นรายได้หลักให้ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และขณะนี้ตัวเลขของนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้ตัวเลขก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 แล้ว และตัวเลขนักท่องเที่ยวของภูเก็ตก็เพิ่มขึ้นมาก ขอชื่นชมและขอแสดงความประทับใจกับชาวภูเก็ต รวมถึงทุกคนที่มาประกอบอาชีพในจังหวัดภูเก็ตด้วย โดยงานดังกล่าวตอบโจทย์ให้กับนักท่องเที่ยวที่มีความลักซ์ชัวรี ซึ่งคนไทยที่มีความสามารถ มีทั้งอู่ซ่อม มีทั้งการบริการต่างๆ ที่ตอบสนองชาวต่างชาติ รวมถึงตอบสนองนักท่องเที่ยวที่มีไลฟ์สไตล์ได้เข้ามาใช้ชีวิตช่วงวันหยุดต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าจังหวัดภูเก็ตมีการท่องเที่ยวทางเรือ เพื่อให้คนมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่และสนับสนุนมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนมากมายที่เริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทางทางน้ำและเรือยอร์ชต่างๆ จึงอยากสนับสนุนในการช่วยประสานงานกับทางราชการเพื่อลดขั้นตอน เพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยหมุนเวียน ทำให้เกิดการท่องเที่ยว เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับงาน Thailand International Boat Show A Luxury Lifestyle Event 2025 ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่าง 9 – 12 มกราคม 2568 ณ ภูเก็ต ยอร์ช เฮเว่น มารีน่า จังหวัดภูเก็ต การจัดงานในปีนี้ตอกย้ำภูเก็ตในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวลักซ์ชัวรี และซอฟต์พาวเวอร์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมทางทะเลไทย โดยคาดมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 6,000 คน จากทั่วโลก และคาดว่าสามารถสร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านบาทให้กับภาคการท่องเที่ยวทางทะเล

ติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

เวลา 14.20 น. ณ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายกรัฐมนตรีตรวจติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้พบปะทักทายประชาชนที่มาให้การต้อนรับ พร้อมมอบดอกกุหลาบสีแดงเพื่อแสดงความรักและเป็นกำลังใจในการทำงานให้นายกรัฐมนตรี ก่อนรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จากนายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน

อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางก่อสร้างระหว่างปี 2546 – 2551 ในยุคนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไม่เพียงพอต่อการใช้อุปโภคบริโภค และปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ปริมาณน้ำดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้น้ำของจังหวัดได้ จังหวัดจึงเล็งเห็นการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน โดยการขุดลอกตะกอนดินอ่างเก็บน้ำบางวาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักน้ำ ในระยะที่ 1 จะเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกัก 150,000 ลูกบาศก์เมตร โดยจะช่วยเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งและจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งการดำเนินการขุดลอกจะดำเนินการในช่วงที่น้ำในอ่างน้อย คือ ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี

นายกรัฐมนตรีได้ชมอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ พร้อมสอบถามถึงสาเหตุที่ผ่านมาไม่สามารถขยายอ่างเก็บน้ำได้มาจากสาเหตุใด ได้รับการชี้แจงว่า เพราะอยู่ที่วิธีการทำ ไม่มีพื้นที่ด้านข้าง ส่วนพื้นที่คลองโตนดหากสามารถสร้างได้แล้วเสร็จจะช่วยให้ผันน้ำมายังคลองบางเหนียวดำได้ และขณะนี้ติดอยู่ที่เรื่องปัญหาการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากมีมูลค่าที่สูงมากและมีพื้นที่ 50 ไร่ โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้หารือกับกรมชลประทานจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ขอให้ยึดความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถรอได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส