20 views

ผลงานรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง แก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้งอย่างยั่งยืน


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือน (90 วัน) ภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility จากผลงานที่เป็นรูปธรรม สู่อนาคตที่ทำได้จริง” ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายทั้งหมด 11 นโยบาย แบ่งเป็น นโยบายที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า 5 นโยบาย และนโยบายระยะยาวที่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง 6 นโยบาย โดยการแก้ปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง เป็นหนึ่งในนโยบายระยะยาวที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากน้ำท่วม-น้ำแล้งคือ ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทย ซึ่งมีกว่า 8.7 ล้านราย น้ำท่วมแค่ครั้งเดียว หรือการประสบภัยแล้งแค่หนึ่งครั้ง อาจหมายถึงการล้มละลายทางการเงินครั้งใหญ่ คือการกำหนดว่าจะ “เป็นหนี้” หรือ “ปลดหนี้”

รัฐบาลมองว่าปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งเป็นความมั่นคงของประเทศ ที่ต้องการการวางแผนนโยบายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว บูรณาการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน กรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการประสานงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ในภาพใหญ่ รัฐบาลจะพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่กว่า 8.21 ล้านไร่ ทำระบบป้องกันน้ำท่วมอีกกว่า 2.12 ล้านไร่ และสำหรับพื้นที่อีสานซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญและมักเจอปัญหาน้ำแล้ง รัฐบาลจะเพิ่มแหล่งน้ำกว่า 320,000 ไร่ จะมีประชาชนกว่า 6.1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้และจะทำให้สำเร็จภายใน 3 ปี ได้แก่พัฒนาการขุดลอกคูคลอง ศึกษาการแก้กฎหมาย ให้ประชาชนนำดินที่ขุดลอกคูคลองไปใช้ประโยชน์ได้ การสร้าง Flood Way ขนาดใหญ่ แก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำชี และบริหารจัดการน้ำ ณ ประตูระบายน้ำห้วยน้ำเค็ม (D5) กรมชลประทาน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังรายงานการดำเนินโครงการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี – มูล และโครงการปรับปรุงพนังป้องกันตลิ่งและขุดลอกคลองระบายน้ำ (D5) ห้วยน้ำเค็ม ตำบลยางท่าแจ้ง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 50% คาดว่าจะดำเนินแล้วเสร็จภายในปี 2568 นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาและจะลงมาติดตามงานด้วยตนเองอีกครั้ง

ซึ่งก่อนหน้านี้ (1 ธ.ค. 67) นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามความคืบหน้าในแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และดินโคลนถล่ม แม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างพื้นฐาน (Hard Side) แบ่งเป็น 3 ระยะ ที่รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการ ตามข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี ได้แก่

  • แผนระยะเร่งด่วน (1 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ
    ในลำน้ำ โดยการขุดลอกคูคลอง รื้อถอนสิ่งกีดขวางลำน้ำ ทำพนังกั้นน้ำชั่วคราว/กึ่งถาวร ในแม่น้ำสาย 15 กม. และแม่น้ำรวก 44 กม. มอบหมายให้กองทัพบก ดำเนินการให้เสร็จตามแผน (แผนดำเนินการ กลางเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2568) ก่อนฤดูฝน ปี 2568 
  • แผนระยะกลาง 1 – 3 ปี ประกอบด้วย 2 แผนงาน ได้แก่

1) โครงสร้างป้องกันน้ำท่วมและป้องกันตลิ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ และโครงการขุดคลองผันน้ำ โดยให้วิเคราะห์จุดเสี่ยงการกัดเซาะตลิ่งหลังจากการขุดลอกในระยะเร่งด่วน ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แผนดำเนินการ มกราคม – มิถุนายน 2568 (6 เดือน)

2) สำรวจและออกแบบโครงสร้างป้องกันตลิ่ง ดำเนินการโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แผนดำเนินการกรกฎาคม 2568 – มิถุนายน 2569 (1 ปี) และให้ดำเนินการก่อสร้าง โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนดำเนินการ 2570 – 2572 (3 ปี)

  • สำหรับแผนระยะยาว (3 – 5 ปี) ประกอบด้วย 1 แผนงาน ได้แก่ โครงการจัดการพื้นที่รับน้ำชั่วคราว (แก้มลิง) โดยให้วิเคราะห์ตำแหน่งและศึกษาผลกระทบ แผนดำเนินการ ปี 2569 (1 ปี) และให้สำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบ ส่วนการก่อสร้างมอบให้ กรมชลประทาน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แผนดำเนินการ ปี 2571 – 2573 (3 ปี)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส