31 views

รัฐบาลเตือน“เชื้อโนโรไวรัส” พบระบาดง่ายในกลุ่มเด็กนักเรียนและกลุ่มคนจำนวนมาก แนะ“กินสุก – ร้อน – สะอาด”


นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงสุขภาพประชาชน เตือนช่วงฤดูหนาว เนื่องด้วยสภาพอากาศที่มีความชื้นและเย็นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ปฏิบัติตามสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและโอกาสเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้

จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส มักติดต่อได้จากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็ง อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ผัก ผลไม้สด หรืออาหารที่นำวัตถุดิบที่นำมาปรุงไม่สุกสะอาด นอกจากนี้ เชื้อโนโรไวรัสยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือการหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก และเชื้อมักแพร่กระจายผ่านการหายใจ พบระบาดง่ายในกลุ่มเด็กนักเรียน หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เชื้อโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวของเชื้อ 12 – 48 ชั่วโมง หลังการรับเชื้อผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายกับอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียนรุนแรง ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย ในบางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำควรดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อทดแทนการเสียน้ำ ปัจจุบันไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียาต้านไวรัส จึงต้องรักษาตามอาการ

ด้านกรมควบคุมโรคแถลงถึงสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน/อาหารเป็นพิษในประเทศไทย ในปี 2566 ผู้ป่วย 689,954 ราย เสียชีวิต 2 ราย ส่วนปี 2567 จำนวนผู้ป่วย 742,697 ราย เสียชีวิต 2 ราย ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กรมควบคุมโรค พบรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนการระบาดเพิ่มขึ้น

สำหรับประชาชนขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาทีเป็นวิธีที่ดีที่สุด เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้ หลังเข้าห้องน้ำ หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งสกปรก รวมถึงเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐานมีเครื่องหมาย อย. หรือ GMP หรือดื่มน้ำต้มสุก

สำหรับน้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำ หรือตู้กดน้ำ ต้องหมั่นทำความสะอาดและตรวจสอบคุณภาพไส้กรองเป็นประจำเพื่อความปลอดภัย ผู้ปรุงประกอบอาหารต้องเลือกวัตถุดิบที่สะอาด มีคุณภาพ ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึง ไม่แช่วัตถุดิบหรือสิ่งของอื่นในน้ำแข็งบริโภค หากมีอาการอุจจาระร่วงควรหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารโดยตรง

สำหรับสถานศึกษาแนะนำให้เก็บตัวอย่างอาหารทุกมื้อ ระบุ วัน เดือน ปี ที่ปรุงประกอบให้นักเรียนรับประทานไว้ในตู้เย็นอย่างน้อย 1 วัน กรณีพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษจะได้มีตัวอย่างอาหารส่งตรวจ เพื่อหาสาเหตุของเชื้อก่อโรคได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส