นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามประเด็นโครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน” (ODOS) ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลตลาด อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมคณะ
นายกรัฐมนตรี กล่าวพบปะนักเรียน นักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และประชาชนว่า ดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มาเจอนักเรียน นิสิต นักศึกษา ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เมื่อเดินเข้ามามีโอกาสได้เห็นผลงานที่สร้างสรรค์ของนิสิตและหลายชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ให้กับชุมชน ขอชื่นชมนิสิตที่นำความรู้ไปต่อยอด
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายทุนการศึกษา “หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” หรือ (ODOS) ว่า รัฐบาลพยายามกระจายทุนการศึกษานี้ให้ลงไปถึง 878 อำเภอทั่วประเทศ รวมทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้โอกาสนี้ไปถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ทุนสำหรับเรียนในประเทศเท่านั้น แต่เป็นทุนที่ไปเรียนต่างประเทศ โดยอยากให้เด็กที่เรียนปานกลางได้มีโอกาสไปเรียนที่ต่างประเทศ เรียน Summer Camp ช่วงปิดเทอมใหญ่ ได้ไปเรียนรู้ชีวิตรู้วัฒนธรรมต่างๆ เปิดโอกาสในการใช้ชีวิต ทั้งนี้อยากให้ผู้ที่ได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ นำประสบการณ์มาบอกต่อให้คนอื่นๆ เพื่อให้มีแรงบันดาลใจ
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ นั่งรถรางไปอาคารวัฒนธรรมสถาบันขงจื่อ เพื่อชมโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) อาทิ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกำพี้ อ.บรบือ กลุ่มกระเป๋าสายทอง อ.กันทรวิชัย กลุ่มเสื่อกกไทบ้านแพง อ.โกสุมพิสัย เป็นต้น โดยได้รับมอบผ้ามัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ผ้าลายประจำจังหวัดมหาสารคาม จากผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามเป็นที่ระลึก พร้อมชมการสาธิตทอเสื่อกก จากชาวบ้านกลุ่มหัตถกรรมบ้านแพง ตลอดจนพบปะกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชุมชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามประเด็นการให้ทุน SML เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่นว่า สิ่งสำคัญคือ การพูดคุยของคนในหมู่บ้านชุมชน เพราะคนในชุมชนเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาในท้องถิ่นตนได้ดีที่สุด และรัฐบาลจะมาลงทุนให้ ย้ำว่า SML ปี 2568 มาถึงพี่น้องประชาชน และเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน
โครงการ SML เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่เริ่มต้นจากความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน โครงการนี้เป็นการจัดสรรงบประมาณกระจายสู่ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะได้รับเงินทุนตามขนาดของหมู่บ้านคือ ขนาดเล็ก (S) ได้ทุนสนับสนุน 200,000 บาท ขนาดกลาง (M) ได้ทุนสนับสนุน 300,000 บาท และขนาดใหญ่ (L) ได้ทุนสนับสนุน 400,000 บาท เมื่อแต่ละหมู่บ้านได้รับเงินก้อนนี้แล้ว จะสามารถนำเงินไปพัฒนาหมู่บ้านผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม มีการรวมตัวกันและเสนอโครงการเพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนเกิดความร่วมมือและนำเงินไปใช้พัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อแก้ไขปัญหาตามที่ชุมชนนั้นๆ ต้องการ