นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Soft Power Food กับการพัฒนาของประเทศไทย” โดยมีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หน่วยงานภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีรับฟังภาพรวม แนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย จากนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รายงานแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหารว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะเครื่องมือที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนโยบายหนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (One Family One Soft Power : OFOS) ด้วยการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 14 สาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุด เพราะเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์
กระทรวงอุตสาหกรรม ผลักดันโครงการดังกล่าวและมีเป้าหมายสร้างงานและอาชีพกว่า 75,000 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศกว่า 3,500 ล้านบาท ซึ่งภายในงานยังได้จัดให้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงาน เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับโลก โดยเฉพาะในด้านการสร้างมาตรฐานคุณภาพอาหาร การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนการส่งออกสินค้าอาหารไทย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโครงการและปาฐกถาในหัวข้อ “Soft Power Food กับการพัฒนาประเทศไทยว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก จึงต้องการจะยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีหลักเกณฑ์ สามารถให้คนทุกพื้นที่พัฒนาตนเองได้อย่างเป็นระเบียบ จากโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย สามารถพัฒนาศักยภาพของประชาชนที่มีความสามารถในด้านการทำอาหารให้มีโอกาสเรียนรู้เป็นเชฟมืออาชีพ ผ่านการเข้าอบรมหลักสูตรต่างๆ โดยหวังให้เชฟทุกคนที่เข้าอบรม จะนำความรู้ไปเผยแพร่รสชาติของอาหารไทยในแบบที่เป็นต้นตำรับจริงๆ ซึ่งอาหารไทยมีหลายแบบที่อาจเคยชิมกันมาหมดแล้ว แต่บางทีก็ไม่ทราบเรียกว่าอะไร
เชฟที่ผ่านหลักสูตรได้จัดรูปแบบอาหารไว้หลากหลาย ทั้งอาหารโบราณ อาหารชาววัง อาหารประจำถิ่นพื้นที่ แต่ละภาคมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป หลายคนทำอาหารที่บ้านอาศัยองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาจากครอบครัวของตนเอง พอได้เข้าเรียนหลักสูตรจะทำให้รู้วิธีและหลักการทำอาหารที่เป็นขั้นตอน ผ่านองค์ความรู้ที่เป็นระบบที่จะช่วยส่งเสริมให้หางานได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อผ่านหลักสูตรเป็นเชฟอาหารไทยแล้วจะได้รับการสนับสนุนให้ไปทำงานในต่างประเทศ หรือเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้ นอกจากเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนไทยแล้วยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการผลักดันอุตสาหกรรมด้านอาหารว่า นอกจากจะเริ่มทำเชฟอาหารไทย สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ การส่งออกอาหารไทย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ พืชผลทางการเกษตร จะต้องมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการแช่แข็ง การถนอมอาหาร เพื่อให้วัตถุดิบเหล่านั้นมีอายุนานขึ้น โดยยังคงรสชาติให้เหมือนในวันแรกที่ทานในเมืองไทย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาตั้งแต่บุคคลขยายไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องแบบบูรณาการ เพื่อส่งออกคุณภาพอาหารและเชฟที่ดีให้ต่างชาติได้รับรู้ และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางหรือเป็นครัวของโลก ซึ่งจากการที่ตนได้เดินทางไปต่างประเทศ สามารถพูดเรื่องอาหารไทยได้อย่างภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นความมั่นคงทางอาหารให้กับทั่วโลก บางประเทศที่มีความไม่สงบภายในประเทศ หรือผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอ ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งเก็บอาหารของทุกประเทศได้ ถ้านวัตกรรมของไทยสามารถถนอมอาหารได้นานคุณภาพเหมือนเดิม และที่สำคัญข้อดีของประเทศไทยที่ได้เปรียบคือพร้อมส่งออกตลอดทั้งปี ฉะนั้นการทำทุกอย่างเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องทั้งระบบและเป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลมองเห็นว่าจะต้องผลักดันอย่างต่อเนื่องต่อไป