คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร
เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน (เดิม เหมาจ่ายในอัตรา 800 บาท ต่อเดือน
ต่อบุตร 1 คน) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตน
(17 ธ.ค. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ
เพิ่มอัตราการจ่ายผลประโยชน์ทดแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 68
ร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสําคัญเป็นการเพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีสงเคราะห์บุตร เพื่อช่วยบรรเทาภาระในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกันตนในวันที่
1 มกราคม 2568 รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการเพิ่มอัตราการมีบุตรของผู้ประกันตนและเป็นการบรรเทาภาระการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมซึ่งมีสาระสําคัญ ดังนี้
- กําหนดให้มีผลใช้บังคับสําหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป - เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน (เดิม เหมาจ่ายในอัตรา 800 บาท ต่อเดือนต่อบุตร 1 คน)
- กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการตามมาตรา 7 และ มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตร โดยการจัดเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 1 (รัฐบาล) ของค่าจ้างมีการใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 0.83 ของค่าจ้าง ซึ่งยังอยู่ภายในกรอบไม่เกินร้อยละ 1 ของค่าจ้าง (อัตราเงินสมทบที่จัดเก็บ) จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะกองทุน
ทั้งนี้ การเพิ่มประโยชน์ทดแทนในกรณีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนดีขึ้น
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตร
- ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
- จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
- อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
การหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร
- เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
- บุตรเสียชีวิต
- ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
- ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
- กรณี ผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้ว และประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
- กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ
- สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด
- กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ
- สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย จำนวน 1 ชุด)
- กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อ – สกุล ให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อ – สกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
- กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคม และสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ
- เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณี เอกสารหลักฐานสำคัญต่อ
การพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา
ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)