33 views

บูรณาการยกระดับการแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ตลอดห่วงโซ่


เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร บูรณาการความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ แปลงปลูก การนำเข้า กลางน้ำคือ โรงคัดบรรจุ และปลายน้ำคือ สถานที่จำหน่าย

โดยดำเนินงานภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ในการขับเคลื่อนเพื่อจัดการความเสี่ยงของสารพิษตกค้างในผักผลไม้ การสื่อสารเพื่อลดความเสี่ยง หรืออันตรายจากสารพิษตกค้าง รวมถึงการปรับเกณฑ์มาตรฐานสารพิษตกค้างให้ครอบคลุมชนิดผักผลไม้และการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในปัจจุบัน

จากการเก็บผักผลไม้ในประเทศส่งตรวจวิเคราะห์ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปี 2567  รวม 2,193 ตัวอย่าง ผ่าน ร้อยละ 81.35 ไม่ผ่าน ร้อยละ 18.65 ซึ่งยังพบปัญหาสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ในปีงบประมาณ 2568 อย. ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจเฝ้าระวัง ความปลอดภัยของผักและผลไม้สด ณ โรงคัดบรรจุทั่วประเทศ 854 แห่ง เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตของโรงคัดบรรจุผักผลไม้สดตามหลักเกณฑ์ GMP และตรวจสอบการแสดงฉลากเพื่อการตามสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา รวมทั้งเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมาตรฐาน โดยมีการสื่อสารความเสี่ยงเป็นระยะและสรุปสถานการณ์ความปลอดภัยด้านสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตร แจ้งต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำกับดูแลแปลงปลูกในประเทศ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กรณีที่ผลการตรวจประเมิน GMP ไม่ผ่านตามเกณฑ์ เพื่อให้กลไกการตรวจสอบสารตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีประสิทธิภาพสอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ อย. ยังมีมาตรการเฝ้าระวังการนำเข้าผักผลไม้อย่างเข้มงวดด้วย โดยการตรวจกัก เก็บผัก ผลไม้กลุ่มเสี่ยง เช่น องุ่น สาลี่ คื่นช่าย ปวยเล้ง เป็นต้น ส่งตรวจวิเคราะห์ หากผลการตรวจไม่ผ่านจะถูกดำเนินคดีและไม่สามารถนำเข้าผัก ผลไม้นั้นได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส