42 views

ครม. ไฟเขียวมาตรการแก้หนี้บ้าน รถยนต์ SMEs


นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในเรื่องมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ คือ สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะ SFIs : Specialized Financial Institutions)  เพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้สินได้โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืนขึ้น ซึ่งจะมีการแถลงข่าวในวันนี้ (12 ธ.ค. 67) อาทิ การลดการชำระหนี้และดอกเบี้ยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เน้นการตัดเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อให้ลูกหนี้สามารถรักษาทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถยนต์ รวมถึงสถานประกอบการตนเองไว้ได้ การให้โอกาสลูกหนี้ NPLs มียอดหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท สามารถปิดหนี้ได้ ซึ่งได้มีการสำรวจไว้แล้วสำหรับลูกหนี้ที่มียอดไม่เกิน 5,000 ให้รับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถปิดบัญชีนี้ได้และเคลียร์เครดิตปรับปรุงประวัติการชำระหนี้ด้วย และเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไปในอนาคตได้

นอกจากนี้ สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้มีการช่วยเหลือมาตรการลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั้งลูกหนี้ที่มี ประวัติชำระหนี้ดี เพื่อที่จะให้กำลังใจรักษาวินัยการเงินครั้งต่อไป และลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้เรื้อรัง ยังมีมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ของกลุ่ม Non-Banks โดยการลดภาระผ่อนชำระค่างวดเหลือร้อยละ 70 และลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปีเหลือเพียงร้อยละ 15 ต่อปี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

เห็นชอบการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) พร้อมอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 38,920 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ (Specialized Financial Institutions: SFIs) ทั้ง 6 แห่ง ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ SFIs แต่ละแห่งต่อไป

รับทราบการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs

เห็นชอบหลักการมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ Non-Banks พร้อมอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) สำหรับ
ผู้ประกอบธุรกิจ Non-Banks โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมต่อไป

เห็นชอบการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้า กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ SFIF (Specialized Financial Institutions Development Fund) ที่อัตราร้อยละ 0.125 ต่อปี ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 2568 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 ดังมีรายละเอียดปรากฏตามร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. ….

รับทราบแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส