รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายด้านการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ครอบคลุมในทุกมิติ อาทิ เทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 แคมเปญ
“สุขท้าลอง 72 สไตล์” รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสนามบิน และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
โดยในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 7.5% สร้างรายได้
3.4 ล้านล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น
1 ใน 8 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง การท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำประเทศไทยสู่จุดหมาย ปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก
(12 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนโยบายด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะดำเนินการทันที โดยรัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad)
ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man – made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัด
ในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว
เปิดแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ตั้งเป้าปี 68 รายได้การท่องเที่ยวโต 7.5%
(7 ต.ค. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทชั้นนำระดับโลกเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย (Round Table Meeting) โดยมีทั้งหมด 6 บริษัท ได้แก่ 1) Grab 2) Agoda 3) Expedia 4) IHG และ Marriott International 5) Trip.com Group และ 6) การบินไทย ซึ่งโอกาสนี้ถือเป็นความร่วมมือของรัฐบาลและภาคเอกชนในการผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ผ่านแคมเปญการท่องเที่ยวไทย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวของประเทศ
โดยในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 7.5% และตั้งเป้าหมายรวมไว้ที่ 3.4 ล้านล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคน และเกิดการเดินทางภายในประเทศมากกว่า 205 ล้านครั้งทั่วประเทศไทย ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกและสถานที่อันน่าค้นหา (Hidden Gems) ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข หากแต่เป็นตัวแทนของความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ที่มีชื่อเสียงในด้านมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ความงดงามทางธรรมชาติ และการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างอบอุ่น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นผ่านโครงการต่าง ๆ ดังนี้
- มนต์เสน่ห์ไทย (Thai Charms) นำเสนอประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ประเทศไทยมีความพิเศษ ตั้งแต่อาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปจนถึงศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม
โดยเน้นย้ำถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมไทย - เมืองมนต์เสน่ห์ซ่อนเร้น (Hidden Gem Cities) ส่งเสริมจุดหมายปลายทางที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้มาเยือน ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งประเทศ นำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่ทุกภูมิภาค
- แนวคิด 5 กิจกรรมท่องเที่ยว 5 Must – Do in Thailand ประกอบด้วย
- ต้องชิม (Must Taste) สัมผัสรสชาติอันหลากหลายของอาหารไทย
- ต้องลอง (Must Try) สัมผัสความตื่นเต้นของมรดกทางวัฒนธรรม เช่น มวยไทย
- ต้องช้อป (Must Buy) ค้นพบแฟชั่นไทยและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
- ต้องแสวงหา (Must Seek) สำรวจจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ และประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร
- ต้องชม (Must See) เพลิดเพลินกับเทศกาลไทยอันคึกคักและงานอีเวนต์ระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น เทศกาลลอยกระทง งานสงกรานต์ และเทศกาล Thailand winter festival
เพิ่มขีดความสามารถด้านเที่ยวบิน ยกระดับการเชื่อมโยงให้ประเทศไทยเข้าถึงได้ง่าย
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก โดยจะเพิ่มขีดความสามารถด้านเที่ยวบิน และยกระดับการเชื่อมโยงซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เชื่อมต่อได้มากขึ้น และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก โดย “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” นั้นเป็นมากกว่าแคมเปญ ถือเป็นวิสัยทัศน์สู่อนาคตที่สดใส เจริญรุ่งเรือง และครอบคลุม
ทั้งนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 8 เสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะท้อนถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นำประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางของ
การท่องเที่ยวระดับโลก
Thailand Winter Festivals ผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและงานเทศกาลระดับโลก (festival Hub)
(28 ต.ค. 67) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ดำเนินการจัดกิจกรรมอีเวนต์และเฟสติวัลหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติ
กับเทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 ภายใต้แนวคิด “7 Wonders of Thailand” ในช่วงเวลาพิเศษของประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี โดยมีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและงานเทศกาลระดับโลก (festival Hub)
เทศกาล Thailand Winter Festivals เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสความมหัศจรรย์ของกิจกรรมไฮไลท์ “7 Wonders of Thailand” ดังนี้
- เทศกาลลอยกระทง ประเพณีลอยกระทงอันทรงคุณค่าสะท้อนความเป็นไทยอย่างสร้างสรรค์จาก
อัตลักษณ์ท้องถิ่นบนรากฐานทางวัฒนธรรม โดยมีการจัดงานทั่วประเทศ อาทิ งานสีสันแห่งสายน้ำ มหกรรมลอยกระทง ณ คลองผดุงกรุงเกษม ประเพณีเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประเพณียี่เป็ง จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตาก - เทศกาล Countdown ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงคริสต์มาสสู่การส่งท้ายปีแบบยิ่งใหญ่ตระการตา ทั้งการจัดแสดงพลุและแสงสีเสียงสื่อผสม การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงทางวัฒนธรรม ไปจนถึงการขึ้นปีใหม่แบบไทยด้วยการสวดมนต์ข้ามปีและการทำบุญตักบาตร อาทิ 1) Amazing Thailand Countdown 2025 ในวันที่ 28 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 กรุงเทพฯ 2) งาน ICONSIAM Amazing Thailand Countdown 2025 วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2567 3) งาน CentralwOrld Bangkok Countdown 2024 วันที่ 31 ธันวาคม 2567
4) Amazing Chiang Mai Countdown 2025 วันที่ 21 – 31 ธันวาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่
5) HATYAI COUNTDOWN 2025 วันที่ 31 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 จังหวัดสงขลา และ 6) เทศกาลปีใหม่ Suphanburi Festival 2024 วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2567 จังหวัดสุพรรณบุรี - กิจกรรมเชิงกีฬา เช่น งาน Amazing Thailand Marathon Bangkok การแข่งขันวิ่งเทรล Hoka Chiang Mai Thailand by UTMB และ งานเชียงใหม่มาราธอน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค. 67
- กิจกรรมด้านวัฒนธรรม นำเสนออัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ อาทิ มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ งานใส่ไทย เฟสติวัล (Sai Thai Festival) จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุรินทร์ และงานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส วันที่ 20 – 25 ธันวาคม 2567 จังหวัดสกลนคร
- เทศกาลอาหาร เช่น มหกรรมอาหาร ฟู้ด เฟสติเว่อร์ วันที่ 11 – 15 ธันวาคม 2567 กรุงเทพฯ
งานเทศกาลปลาร้าหมอลำ Isan To The World วันที่ 26 – 29 ธันวาคม 2567 จังหวัดขอนแก่น และ Hidden Gem Food Festival วันที่ 11 – 15 ธันวาคม กรุงเทพฯ - เทศกาลดนตรี เพิ่มความคึกคักด้วยกิจกรรมทางด้านดนตรี ซึ่งจะจัดขึ้นในหลายพื้นที่ อาทิ Wonderfruit วันที่ 12 – 16 ธันวาคม 2567 จังหวัดชลบุรี Rolling loud Thailand 2024 ณ Legend Siam พัทยา เชียงใหม่เฟส จังหวัดเชียงใหม่ Big Mountain จังหวัดนครราชสีมา และเทศกาลดนตรีนานาชาติ Maho Rasop จังหวัดปทุมธานี
- เทศกาลแสงสี (Lighting & Illumination) พบกับมหาปรากฏการณ์แสดง แสง เสียง พลุ โดรน
สุดยิ่งใหญ่ในงาน Vijit Chao Phraya 2024 วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 ธันวาคม 2567 ณ บริเวณสถานที่สำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา งาน Awakening Bangkok ย่านเมืองเก่าพระนคร กรุงเทพฯ งาน Night at the Museum Festivals 2024 วันที่ 5 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568 ณ มิวเซียมสยาม และพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้กว่า 24 แห่งทั่วกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่า เทศกาล Thailand Winter Festivals 2024 จะสามารถสร้างบรรยากาศของการเดินทางท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่น ความสุข และความประทับใจให้กับชาวไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ทางการท่องเที่ยวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป
ททท. เปิดตัวแคมเปญ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศส่งท้ายปี
(9 พ.ย. 67) รัฐบาล โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระตุ้นท่องเที่ยวปลายปี เปิดตัวแคมเปญ “สุขท้าลอง 72 สไตล์” พร้อมจัดทำ E – book รวบรวมกิจกรรม 5 MUST DO สร้างจุดขายมุมมองใหม่กับเส้นทางท่องเที่ยว 72 เส้นทาง 72 สไตล์ จากแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย ด้วยการจัดทำ E – book ท้าให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand ให้ไปทำ ไปดู ไปกิน ไปเห็นด้วยตัวเองอย่างแท้จริง เพื่อปลุกกระแสการท่องเที่ยวไทยในช่วงปลายปีอีกทั้งเพิ่มแรงส่งให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวต่อเนื่องไปถึงปี 2568 เพิ่มความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดปี เพิ่มการใช้จ่ายกระจายตัวสู่จังหวัดต่าง ๆ อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ทุกเมืองในประเทศไทยเป็นเมืองน่าเที่ยว และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ในส่วนของเมืองน่าเที่ยวจะเพิ่มพลังให้เป็นเมืองที่น่าไปเที่ยวไปเยือนมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยดึงกลยุทธ์ City Marketing พัฒนาเมืองต่าง ๆ ให้เติบโตเข้าใกล้ความเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว ค้นหาจุดขาย พลิกมุมมอง บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไทยของแต่ละพื้นที่ หมุนเวียนกันไปจากเมืองสู่เมือง จากภาคสู่ภาค เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นไฮซีชั่นตลอดทั้งปี
เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น
(10 พ.ย. 67) นาวสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ติดตามการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวก นักท่องเที่ยว เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมต้อนรับเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น สำหรับการบริการด้านต่าง ๆ เช่น การเช็คอินเกิดความสะดวกไม่ล่าช้าจนกระทบแผนการท่องเที่ยว การใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความรวดเร็วให้กับนักท่องเที่ยว และขอให้ดูแลนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะในด้านความปลอดภัย ทั้งเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้รายงานว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ต.ค. 66 – พ.ย. 67) มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 19.2% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น และตารางบินฤดูหนาวคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารสูงสุดที่ประมาณ 7,000 คน/ชม. โดยมีความจุของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขาเข้า ประมาณ 7,140 คน/ชั่วโมง ขาออก 5,500 คน/ชั่วโมง
นโยบายฟรีวีซ่า ทำยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140%
สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวเลขเติบโตใกล้เคียงกับปี 2019
แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนของเชื้อชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะมีประเทศอินเดียเพิ่มมากขึ้น ผลสืบเนื่องมาจากอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้ทำนโยบายฟรีวีซ่าไว้ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 140% ซึ่งก่อนหน้านี้ (28 พ.ค. 67) ครม. เห็นชอบมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- มาตรการระยะสั้น 5 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป) ได้แก่
- การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บาห์เรน บรูไน แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น (เดิมพำนักได้ 30 วัน จำนวน 57 ประเทศ/ดินแดนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ)
- ปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) จำนวน 31 ประเทศ/ดินแดน เช่น อาร์เมเนีย บัลแกเรีย ภูฏาน โบลิเวีย จีน จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน เป็นต้น (เดิม จำนวน 19 ประเทศ)
- เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) สามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 10,000 บาท อายุการตรวจลงตรา 5 ปี และมีสิทธิขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 180 วัน โดยชำระค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเทศได้ โดยการตรวจลงตราเดิมจะสิ้นสุด
- ปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจ
ลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ แทนที่จะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีที่สำเร็จการศึกษา - เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย
- มาตรการระยะกลาง 3 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 กันยายน – ธันวาคม 2567) ได้แก่
- จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส เริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน 67
- ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวพำนักระยะยาว
(Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย เริ่มดำเนินการในเดือนกันยายน 67 โดยการปรับลดเงินประกันสุขภาพสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิมจำนวน 3,000,000 บาท ให้เหลือเท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ 40,000 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก และ 400,000 บาท สำหรับผู้ป่วยใน พร้อมเพิ่มประเทศ/ดินแดนที่คนต่างด้าวสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) เพื่อพำนักระยะยาวในประเทศไทย - ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม
ปี 2567 (เดิมให้บริการ 47 แห่งจากทั้งหมด 94 แห่ง) เป็นต้น - มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แบ่งเป็น
- ระยะที่ 1 เปิดระบบให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2567 (ระบบ ETA ชั่วคราว) พร้อมระบบ
e-Visa ที่จะครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะยกเว้นให้ผู้ถือหนังสือเดินทาง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ที่เดินทางข้ามแดนทางบกไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ ETA - ระยะที่ 2 ภายในเดือนมิถุนายน 2568 เป็นระบบ ETA ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะรวมระบบ e-Visa และระบบ ETA ไว้ในระบบเดียวกัน (Single Window Submission) โดยคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าประเทศไทยทุกคน ซึ่งรวมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
พัฒนาอุตสาหกรรมการบิน สร้างโอกาสไทยเป็น Aviation Hub
(5 ธ.ค. 67) รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ สำหรับการคมนาคมทางอากาศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการบินของเอกชนในประเทศ และสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการบินกับการท่องเที่ยวในประเทศ
เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก สร้างรอยยิ้มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการสนามบิน เช่น การนำระบบการออกบัตรโดยสารด้วยตัวเอง (CUPPS) หรือการนำระบบโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง (CUBD) มาใช้ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
- ระยะกลาง มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น
- ระยะยาว ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งทั้ง 2 สนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573 รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต