(4 ธ.ค. 67) เวลา 17.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประธานพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วขึ้นประดิษฐาน ณ มณฑป มณฑลพิธีท้องสนามหลวง รัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว
จำนวน 24 ขบวน โดยผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานของไทย – จีน องค์กรเครือข่าย 5 ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 2,700 คน สำหรับบริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 5 โซน ทั้งนี้ “พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมสักการะ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567 ไปจนถึงวันศุกร์ที่
14 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 20.00 น. นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดเตรียมรถเมล์ ขสมก. และเรือ รับ – ส่ง (ฟรี) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
(4 ธ.ค. 67) เวลา 17.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วขึ้นประดิษฐาน ณ มณฑป มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานในไทยเป็นการชั่วคราว ในระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2567 ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568
รวมเป็นเวลา 73 วัน ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเป็นสิริมงคลยิ่ง ซึ่งรัฐบาลได้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน ในปี 2568
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดให้มีริ้วขบวนอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 โดยขบวนรถได้เคลื่อนผ่านทางยกระดับดอนเมือง เยาวราช ถนนหลานหลวง และเข้าสู่ถนนราชดำเนินไปยังลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ และไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง จำนวน 24 ขบวน ผู้เข้าร่วมเดินริ้วขบวนประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานของไทย – จีน องค์กรเครือข่าย 5 ศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 2,700 คน เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล – ครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน
รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เห็นชอบร่วมกันในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง จากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) เสริมสร้างความเป็นสิริมงคล และถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิม
พระชนมพรรษา 6 รอบ (72 พรรษา) และในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ. 2568 อันเป็นการสานสัมพันธไมตรีแห่งมิตรภาพอันยืนยาวผ่านสายธารแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อผลักดันการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างไทย – จีน และทำให้คำว่าว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ยิ่งหยั่งรากลงลึกในจิตใจประชาชนทั้งสองแผ่นดินอย่างแน่นแฟ้น
ทั้งนี้ การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างมณฑปขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอาคารเครื่องยอด นับเป็นอาคารที่มีฐานานุศักดิ์สูงสุดในงานสถาปัตยกรรมไทย เหมาะแก่การใช้ประดิษฐานสิ่งสำคัญ อาทิ พระบรมสารีริกธาตุ โดยผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนและไทย
เข้าด้วยกัน เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ
5 โซน นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ
ตลอดระยะเวลาการจัดงาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 แบ่งเป็น 5 โซน ประกอบด้วย
- “ดับขันธปรินิพพาน มกุฎพันธนเจดียสถาน” นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติในการประสูติ ตรัสรู้
และเสด็จปรินิพพาน โดยเน้นในช่วงพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
- “พุทธะบารมีพระสรีระธาตุ” นำเสนอเรื่องราวประวัติของพระสรีระธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ
ที่ได้อัญเชิญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก
- “พระเขี้ยวแก้ว” นำเสนอเรื่องราวประวัติ ความสำคัญ และความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ(พระเขี้ยวแก้ว)
- “ใต้ร่มเศวตฉัตร ทศมรัช พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมทามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
ในพระราชสถานะที่ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกและมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา สืบสานราชประเพณีสืบเนื่องมาจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ - “ความสัมพันธ์ ไทย – จีน” นำเสนอเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่สร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนในด้านต่าง ๆ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมคำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือ พระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น ซึ่งตามพระไตรปิฎก
ภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะ หรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า “เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์” ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า
พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ประกอบด้วย พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเขี้ยวแก้วแก้วเบื้องล่างขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ ต่อมาอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาในปัจจุบัน)พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แควันคันธาระ เชื่อว่าต่อมาได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน (ซีอาน) สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยพระภิกษุฟาเหียน คราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และพระเขี้ยวแก้วเบื้องล่างซ้าย ประดิษฐานในพิภพพญานาค
“พระเขี้ยวแก้ว” ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้รับการประดิษฐานในพระสถูปทองคำประดับอัญมณีล้ำค่าตามลักษณะศิลปกรรมแบบจีน องค์พระเขี้ยวแก้วมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว เชื่อว่า
ผู้ที่มองเห็นจะเห็นเป็นสีต่างกันตามกรรมส่วนบุคคล (บ้างเห็นเป็นสีขาวล้วน บ้างเห็นเป็นสีทอง บ้างเห็นเป็นสีขาวหม่น) แม้จะไม่ใช่แก่นของพระพุทธศาสนา แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งพระปัญญาตรัสรู้ และเป็นสะพานเชื่อมพุทธศาสนิกชนสู่การบรรลุธรรม
“วัดหลิงกวง” หนึ่งในสถานที่สำคัญที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)
วัดหลิงกวง ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางทิศตะวันออกของเทือกเขาด้านตะวันตกของกรุงปักกิ่ง
มีชื่อเสียงในฐานะสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และเป็นหนึ่งในสถานที่แสวงบุญสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั้งในจีนและจากต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1983
วัดหลิงกวงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวัดพุทธสำคัญในพื้นที่วัฒนธรรมจีนฮั่นโดยคณะรัฐมนตรีจีน
ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของคณะสงฆ์ซึ่งพุทธสมาคมจีนมอบหมายแต่งตั้ง
วัดหลิงกวงมีความเป็นมาย้อนไปถึงการก่อตั้งวัดครั้งแรกในช่วงรัชศกต้าลี่แห่งราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 766 – 779) เดิมชื่อวัดหลงฉวน ต่อมาได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในรัชศกต้าติ้งปีที่ 2 แห่งราชวงศ์จิน (ค.ศ. 1162) และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดเจว๋ซาน ในรัชศกเซี๋ยนยงปีที่ 7 แห่งราชวงศ์เหลียว (ค.ศ. 1071) ท่านผู้หญิงเจิ้ง มารดาของอัครมหาเสนาบดีเย๋หลี่ว เหรินเซียน ได้ก่อสร้างพระเจดีย์เจาเซียนขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
ส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า พระเจดีย์มีสันฐานทรงแปดเหลี่ยม สร้างด้วยอิฐแกะสลัก และมีขนาดใหญ่
ในรัชศกเจิ้งถ่งแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1436 – 1449) วัดหลิงกวงได้รับการต่อเติมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยใช้
ไม้ที่รวบรวมมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วจีน วัดหลิงกวงเป็นสถานที่มีชื่อเสียงของกรุงปักกิ่งมาเป็นเวลาหลายร้อยปีเนื่องจากมีสถาปัตยกรรมและทัศนียภาพงดงาม
วัดหลิงกวงเป็นปูชนียสถานสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วโลกเนื่องจากเป็นสถานที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้าหนึ่งในสององค์ที่เหลืออยู่ในโลกภายหลังพุทธปรินิพพานและการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ (ตามคติความเชื่อ กล่าวกันว่า พระเขี้ยวแก้วอีกสององค์นั้น องค์หนึ่งพระอินทร์อัญเชิญไปประดิษฐานบนสวรรค์ อีกองค์หนึ่งพญานาคบูชาอยู่ในบาดาล) โดยองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ที่ศรีลังกา ในขณะที่อีกองค์หนึ่งได้รับการอัญเชิญไปยังอาณาจักรโบราณในพื้นที่ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน หลังจากนั้นได้รับการอัญเชิญต่อไปยังพื้นที่ทางตะวันตกของจีน (พื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงฯ ในปัจจุบัน) กระทั่งในช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 5 ในยุคราชวงศ์ใต้ พระภิกษุฝาเสี่ยนได้จาริกไปยังพื้นที่ดังกล่าว และอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วองค์นี้ไปยังกรุงเจี้ยนคัง เมืองหลวงของราชวงศ์ฉีใต้ (นครหนานจิง
ในปัจจุบัน) หลังการสถาปนาราชวงศ์สุย พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญไปยังนครฉางอาน ต่อมา
ในยุคห้าราชวงศ์ซึ่งเกิดความระส่ำระสายอย่างหนักในพื้นที่ตอนกลางของจีน พระเขี้ยวแก้วได้รับการอัญเชิญมาถึงยังเมืองกรุงเยี่ยนจิง (กรุงปักกิ่งในปัจจุบัน) เมืองหลวงของราชวงศ์เหลียวเหนือ และได้รับการประดิษฐานในพระเจดีย์เจาเซียนเมื่อปี ค.ศ. 1071 ซึ่งพระเจดีย์องค์นี้ถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 1900 จากเหตุความวุ่นวายในกรุงปักกิ่งจากการบุกรุกของกองกำลังแปดชาติ
ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 ขณะที่ทำการเก็บกวาดซากปรักหักพัง คณะสงฆ์ได้ค้นพบกล่องศิลาบรรจุองค์พระเขี้ยวแก้วซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ส่วนฐานของพระเจดีย์ กระทั่งปี ค.ศ. 1957 พุทธสมาคมจีนได้ริเริ่มการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นโดยการสนับสนุนของผู้นำจีน การก่อสร้างแล้วเสร็จและทำการอัญเชิญองค์พระเขี้ยวแก้วเข้าประดิษฐานเป็นการถาวรในปี ค.ศ. 1964 ปัจจุบันวัดหลิงกวงมิได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าสักการะองค์พระเขี้ยวแก้วในพระเจดีย์ได้เป็นการทั่วไป
ก.คมนาคม อำนวยความสะดวกการเดินทางมาสักการะพระเขี้ยวแก้ว
กระทรวงคมนาคม อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง โดย กรมเจ้าท่า จัดเรือข้ามฟาก จากฝั่งธนบุรี มาฝั่งพระนคร ในเส้นทาง ท่าเรือวัดระฆังฯ – ท่าเรือวัดอรุณฯ – ท่าเรือท่าช้าง ตั้งแต่วันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย (ฟรี)
นอกจากนี้ องค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพฯ (ขสมก.) จัดเดินรถโดยสารธรรมดาให้บริการประชาชน
ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2567 ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2568 จำนวน 2 เส้นทาง (จอดรับ–ส่งทุกป้าย) ดังนี้
- เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – สนามหลวง (จอดส่ง ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร)
เริ่มต้นจาก อนุสาวรีย์ฯ -> ถ.พญาไท -> แยกพญาไท -> ถ.ศรีอยุธยา -> วัดเบญจมบพิตรฯ ->
แยกกองทัพภาคที่ 1 -> ถ.ราชดำเนินนอก -> ถ.ราชดำเนินกลาง -> สุดเส้นทางที่สนามหลวง (บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)
- เส้นทางวงเวียนใหญ่ – สนามหลวง (จอดส่ง ตรงข้ามศาลฎีกา)
เริ่มตันจาก วงเวียนใหญ่ -> ถ.ประชาธิปก -> ข้ามสะพานพุทธ -> ถ.มหาราช -> ถ.สนามไชย ->
ถ.ราชดำเนินใน -> สุดเส้นทางที่สนามหลวง (ตรงข้ามศาลฏีกา)
สำหรับเวลาในเดินรถเที่ยวแรก ออกจากท่าต้นทาง เวลา 07.00 น เที่ยวสุดท้าย เวลา 19.30 น.
ออกจากท่าปลายทาง เที่ยวสุดท้าย เวลา 20.30 น. หรือจนกว่าผู้มาร่วมงานหมดพื้นที่ โดยจะมีรถบริการทุก ๆ 20 นาที
ทั้งนี้ “พระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว)” จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมสักการะ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2567 ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 20.00 น. ซึ่ง เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมดอกไม้สักการะและโปสการ์ด พร้อมบทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) ให้ประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องนำมาเอง