37 views

จังหวัดภูเก็ตเตรียมการรับเสด็จฯ ในหลวง-ราชินี พระราชทานรางวัลการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 วันที่ 6 ธ.ค. ด้าน กษ. จัดเฉลิมฉลองงานวันดินโลก ปี 67


จังหวัดภูเก็ตเตรียมการรับเสด็จ ในหลวง-พระราชินี ในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 ประจำปี 2567 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2567 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมแข่งขันเรือใบ ทีมเรือใบวายุ รุ่นไออาร์ซีซีโร (IRC ZERO) ในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย การแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดทูนพระอัจฉริยภาพของ รัชกาลที่ 9 ด้านดินและน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations) กำหนดจัดเฉลิมฉลองงานวันดินโลก  5 ธันวาคม 2567  โดยในปีนี้ยกระดับการจัดงาน วันดินโลกของไทย ให้เป็นการจัดงานระดับโลก ในชื่อ Global Celebration of the World Soil Day และการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกในประเทศไทย

นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยถึงการประชุมเตรียมความพร้อมรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในการเสด็จพระราชทานรางวัลการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าฯ ครั้งที่ 36 และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ         พระบรมราชินี ทรงร่วมแข่งขันเรือใบ ทีมเรือใบวายุ รุ่นไออาร์ซี ซีโร (IRC ZERO) ในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมบียอนด์ กะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยมีการกำหนดจุดพื้นที่ให้ประชาชนเฝ้ารับ-ส่งเสด็จ จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย จุดแรกเฝ้ารับ-ส่ง เสด็จ บริเวณหน้าโรงแรมบียอนด์ กะตะ จุดที่ 2 เฝ้าส่งเสด็จ บริเวณหน้าศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ถลาง จุดที่ 3 เฝ้าส่งเสด็จบริเวณหน้าโรงเรียนเมืองถลาง และจุดที่ 4 เฝ้าส่งเสด็จ หน้าบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สำหรับการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 36 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2567

การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อสืบสานกีฬาเรือใบตามรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักกีฬาเรือใบที่ทรงพระปรีชาสามารถและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในระดับสากล ดำเนินตามพระราชปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอดของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
  2. เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดการแข่งขันเรือใบระดับโลกของไทย ดึงดูดการแข่งขันเรือใบระดับกรังด์ปรีซ์ รายการ 52 Super Series ให้สนใจเข้ามาจัดการแข่งขันที่ประเทศไทย
  3. เพื่อฝึกฝนทักษะและพัฒนาการเล่นในสนามระดับสากลของนักกีฬาเรือใบไทย เป็นการเฟ้นหานักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย
  4. เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจเรือใบและการท่องเที่ยวทางทะเลมีการเจริญเติบโต เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ซึ่งในปีนี้มีเรือเข้าร่วมทั้งเรือใหญ่และเรือเล็ก ประมาณ 100 ลำ และมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 720 คน โดยในวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายและปิดการแข่งขัน สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จะเสด็จมาร่วมแข่งขันเรือใบกับทีมวายุด้วย)

ประวัติความเป็นมาของการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า”

การแข่งขันเรือใบนานาชาติ ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” จัดขึ้น ภายใต้ชื่อบริษัท พีเคซีอาร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ร่วมกับสโมสรเรือใบราชวรุณในพระบรมราชูปถัมภ์ กองทัพเรือ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันเรือใบนานาชาติ          ชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จ        พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 โดยจัดงานในช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปีมาโดยตลอด “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ถือเป็นงานแข่งขันเรือใบนานาชาติที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย โดยจัดแข่งขันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2530 ที่เกาะภูเก็ต โดยมีการแล่นเรือในน่านน้ำทะเลอันดามัน และได้รับการสนับสนุนจากโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ (Le Royal Meridien Phuket Yacht Club) ในครั้งนั้น มีการแข่งเรือใบ 4 ประเภท ได้แก่ Keelboats, Catamarans, Lasers และ Boards ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศทั่วโลก

ปัจจุบัน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในเอเชีย แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ เรือเรซซิ่ง คลาส เรือความเร็วสูง เรือมัลติฮัลล์ และเรือดิงกี้ โดยมีนักแล่นเรือใบเข้าร่วมกว่า 500 คน และเรือใบกว่า 90 ลำในแต่ละปี ซึ่งในปี พ.ศ.2566 มีจำนวนเรือเข้าร่วมทั้งสิ้น 151 ลำ โดยแบ่งเป็นเรือใบคีลโบ้ทและมัลติฮัลล์ จำนวน 30 ลำ และเรือใบเล็กดิงกี้จำนวนกว่า 120 ลำ

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน รวมถึงสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ กองทัพเรือไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และชุมชนท้องถิ่นของภูเก็ต โดยมีการจัดงานเลี้ยงและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง

ก.เกษตรฯ เตรียมจัดเฉลิมฉลองงานวันดินโลก 2567 ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของวันดินโลก 5 ธันวาคม

(19 พ.ย. 2567) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลก ประจำปี 2567 (The Global Celebration of World Soil Day 2024)  ในหัวข้อ “Caring for soils: measure, monitor, manage” ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน และการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024) โดยมี นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Mr. Jong Jin Kim ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations) นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 115 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย พระราชทานแนวพระราชดำริด้านการจัดการดินผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถและยอมรับไปทั่วโลก สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences – IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล และประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) และต่อมาองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศสดุดี           พระเกียรติคุณ โดยกำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นวันดินโลกอย่างเป็นทางการครั้งแรก และรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day)

กษ. ร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกระดับการจัดงาน วันดินโลกของไทย ให้เป็นการจัดงานระดับโลก

ในปี 2567 นี้ เป็นการก้าวสู่ปีที่ 11 ของการประกาศให้มีวันดินโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงร่วมกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกระดับการจัดงาน วันดินโลกของไทย ให้เป็นการจัดงานระดับโลก ในชื่อ Global Celebration of the World Soil Day ภายใต้หัวข้อ “Caring for soils: measure, monitor, manage : ใส่ใจมาตรฐาน ตรวจวัดจัดการ ดินดียั่งยืน” ระหว่างวันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2567 ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในฐานะทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม และเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน รวมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวันดินโลก โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการต่าง ๆ อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “ภูมิภักดิ์ รักษ์ดิน” แสดงพระอัจฉริยภาพด้านการพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำในประเทศไทย เทคนิคการจัดการดินด้วยการตรวจวิเคราะห์ดิน นวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำเพื่อพัฒนาการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพทางดิน ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด.13 ไมคอร์ไรซา คู่ใจไร่ข้าวโพด มหัศจรรย์หญ้าแฝก ทุ่งปอเทือง พืชบำรุงดิน พร้อมคำแนะนำสูตรปุ๋ย การผสมปุ๋ยใช้เองง่าย ๆ ผ่านแอปพลิเคชัน การเสวนาระดับนานาชาติ เสวนาหมอดินอาสา กิจกรรมประกวดแข่งขันต่าง ๆ อาทิ แล็ปกริ๊งตรวจวัดจัดการดิน ประกวดวาดภาพจากดิน กิจกรรม DIY งานศิลป์ทำจากดินและวัสดุธรรมชาติ เดินเทรลท่ามกลางธรรมชาติ และเชิญเลือกซื้ออาหารและสินค้าเกษตรมากมาย โดยประชาชนสามารถติดตามรายละเอียดงานวันดินโลก ปี 2566 ได้ทาง เพจ Facebook กรมพัฒนาที่ดิน, เพจ Facebook World Soil Day วันดินโลก หรือ โทร 1760

นอกจากนี้ ยังกำหนดจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (The International Soil and Water Forum 2024) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เพื่อสร้างความมุ่งมั่นในเรื่องการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ที่บูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานของการพลิกโฉมระบบการเกษตรและอาหารอีกทั้ง                 เพื่อเทิดทูนพระอัจฉริยภาพ รัชกาลที่ 9 ด้านดินและน้ำ รวมทั้งมีการนำเสนอผลงานวิจัยด้านดินและน้ำของนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ เป็นการเปิดเวทีให้แก่ผู้นำไทยและต่างชาติได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

การประชุมนานาชาติระดับรัฐมนตรีฯ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของโลกที่มีผู้นำระดับรัฐมนตรีด้านดินและน้ำจากประเทศสมาชิก FAO รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส นักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมของไทยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความมุ่งมั่นของเครือข่ายทุกภาคส่วนบูรณาการในการจัดการทรัพยากรดินและน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยี การกำกับดูแลและนวัตกรรมในการจัดการดินและน้ำ โดยเน้นการขาดแคลนน้ำและความเสื่อมโทรมของดิน ภายใต้ หัวข้อ “Managing Water Scarcity and Reversing Land and Soil Degradation for Sustainable and Resilient Agrifood Systems” นอกจากนี้ยังมีร่างแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการการขาดแคลนน้ำและการฟื้นฟูดิน เพื่อระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น (Ministerial Declaration on managing water scarcity and reversing soil degradation for sustainable and resilient agrifood systems) เป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมนานาชาติฯ อีกด้วย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่อาวุโส นักวิชาการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีรูปแบบการประชุมฯ ประกอบด้วย การประชุมใหญ่ (Plenary) การประชุมห้องย่อย (Breakout room) การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมคู่ขนาน (Side event) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักวิชาการของไทยได้นำเสนอผลงานวิชาการด้านการบริหารจัดการดินและน้ำที่ยั่งยืนของประเทศไทย ตลอดจนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนการดำเนินงาน เพื่อการบริหารจัดการดินและน้ำอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการแสดงบทบาทนำของประเทศไทยด้านวิชาการด้านการบริหารจัดการดินและน้ำ


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส