กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมการค้าต่างประเทศ รายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.32% มูลค่า 191,031 ล้านบาท หรือประมาณ 5,411 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.81% สำหรับชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ “ข้าวขาว” ปริมาณ 5.18 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 16.40% ข้าวนึ่ง 12.10% ข้าวหอมไทย 6.47% ข้าวเหนียว 2.75% และข้าวกล้อง 0.24% ส่วนการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินร่วมกันว่าจะทำได้สูงถึง 9 ล้านตัน มูลค่า 230,000 ล้านบาท
(27 พ.ย. 67) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วง 10 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 20.32% มูลค่า 191,031 ล้านบาท หรือประมาณ 5,411 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.81%
• ชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ “ข้าวขาว” ปริมาณ 5.18 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 62.04% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 16.40% ข้าวนึ่ง 12.10%
ข้าวหอมไทย 6.47% ข้าวเหนียว 2.75% และข้าวกล้อง 0.24%
• การส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567 กรมการค้าต่างประเทศ และ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินร่วมกันว่าจะทำได้สูงถึง 9 ล้านตัน มูลค่า 230,000 ล้านบาท
ราคาข้าวไทยปรับขึ้นทุกชนิด
จากรายงานข้อมูลราคา FOB : Free on Board (เป็น TERM ที่ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดจากฝั่งผู้ขาย และผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในการนำสินค้าไปส่งมอบที่ท่าเรือต้นทางสำหรับการส่งออก) ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วง 10 เดือน พบว่า
• ข้าวหอมมะลิ (ข้าวใหม่) ราคาเฉลี่ย 935 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 7.59% ข้าวหอมปทุมธานี
(ข้าวหอมไทย) ราคาเฉลี่ย 875 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 24.64% ซึ่งทำสถิติราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดในบรรดาข้าวทุกชนิด ข้าวขาว ราคาเฉลี่ย 603 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 11.67% ข้าวนึ่ง ราคาเฉลี่ย 601 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 10.89% และ ข้าวเหนียว ราคาเฉลี่ย 818 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 0.62%
จากราคาข้าวส่งออกที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลดีต่อราคาข้าวเปลือกในประเทศ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
โดยข้อมูลจากกรมการค้าภายในแจ้งว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ย 15,547 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 7.85% ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย) ราคาเฉลี่ย 14,928 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 29.16% ข้าวเปลือกเจ้า
(ข้าวขาว/ข้าวนึ่ง) ราคาเฉลี่ย 11,686 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 9.87% และ ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเฉลี่ย 13,661 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 6.70%
กรมการค้าต่างประเทศชี้ปัจจัยทำให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น
1. การดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย ทั้งการระงับการส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่เดือน ก.ค. 66 และการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง ตั้งแต่เดือน ส.ค. 66 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ต.ค. 67 ส่งผลให้ภาพรวมราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
2. ความต้องการสำคัญของประเทศผู้นำเข้าข้าวที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย อิรัก และฟิลิปปินส์ เพื่อใช้บริโภคและเก็บสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร โดยผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดลงกว่า 0.88 ล้านตัน และ 0.30 ล้านตัน ตามลำดับ รวมถึงตลาดสหรัฐฯ ที่มีความต้องการข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
3. ปริมาณผลผลิตข้าวของไทยเพียงพอ พร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดข้าวโลก โดยมีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งมอบข้าวให้ประเทศผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง
ข้าวไทยตอบโจทย์ตลาดโลกส่งผลปริมาณ-มูลค่าพุ่ง
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ผลสำเร็จของการส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือน ปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า เป็นผลมาจากนโยบายและข้อสั่งการให้ทำตลาดเชิงรุกของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้รับมาดำเนินการและจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ทั้งการกระชับความสัมพันธ์และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในประเทศ
คู่ค้าข้าวสำคัญ จาก อินโดนีเซีย-จีน-ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางตลาดของข้าวไทย และจัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) สัญจร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ให้ทราบถึงความต้องการของตลาดโลก เพื่อให้ปลูกและผลิตข้าวได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ
วางแผนส่งออกข้าวปี 2568 รักษาตลาดเก่า-บุกตลาดใหม่-พัฒนาพันธุ์ข้าว
ปี 2568 ได้เตรียมแผนขยายตลาดส่งออกข้าวไว้ล่วงหน้า เพราะปีหน้ามีหลายปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อการส่งออกข้าว อินเดียจะกลับมาส่งออก ผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้นำเข้ารายสำคัญมีแนวโน้มลดการนำเข้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือ และอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังต้องจับตา โดยมีแผนผลักดันการส่งออกครอบคลุมทั้งการรักษาตลาดเดิม เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ และการรุกตลาดใหม่ รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน มีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) เพื่อให้คนในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล และเจรจาธุรกิจระหว่างกัน
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ไทยลดต้นทุนการผลิตข้าว และพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น
เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด ตลอดจนการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รองรับมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าข้าวในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย ให้ไทยคงความเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวคุณภาพดีในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน จะนำมาซึ่งราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลดีต่อเกษตรกรขายข้าวเปลือกได้ราคาดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ ผลพวงจากปริมาณข้าวที่ส่งออกเพิ่มขึ้นและราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ