Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

11 views

กระทรวงพลังงาน จับมือ 4 หน่วยงานบูรณาการทำงานกระชับพื้นที่ “ผู้ป่วยติดเตียง ต้องไม่ถูกตัดไฟ”


รัฐบาลและกระทรวงพลังงานลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล และได้กำหนดกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี เพื่อลดความเสี่ยงเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษา โดยมี
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี

(25 พ.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรื่อง การบูรณาการเพื่อการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วย ซึ่งมีความจําเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล เพื่อวางกรอบความร่วมมือในการบูรณาการทำงานคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานเชิงรุก ให้ผู้ใช้พลังงานที่มีผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลได้รับการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าในทุกกรณี
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานเพื่อให้ความคุ้มครองต่อชีวิต และทรัพย์สินกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานให้ความสำคัญ ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันกับความพยายามที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน และการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อให้การบริการด้านไฟฟ้าให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

ตั้งเป้าหมายร่วมกัน ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้า
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง 4 หน่วยงาน จะเป็นการทำงานเชิงรุกร่วมกัน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อลด
ความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการถูกงดจ่ายไฟฟ้าทุกคนในทุกกรณี

สธ. พร้อมผลักดัน ช่วยผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงฯ 52,543 ราย ทั่วประเทศ
​นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลผู้ป่วยติดบ้าน
ติดเตียงที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ทั่วประเทศ มีประมาณ 52,543 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในการผลักดันและลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและทุกภาคส่วน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีฐานข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่และมีเครือข่ายสุขภาพที่เข้มแข็งครอบคลุมถึงระดับตำบล ทั้ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ อสม. ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเข้ามาประสานและทำให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย รวมไปถึงการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยเป็นปัจจุบัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นได้

กำหนดกรอบความร่วมมือ 4 หน่วย ขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 ด้าน​
​สำหรับกรอบความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 4 หน่วยงาน จะร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่
• ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยฯ
เพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต โดยนำระบบเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้เพื่อยกระดับการปฏิบัติงาน รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
• ด้านการปฏิบัติงานในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่ โดยการบูรณาการแต่ละหน่วยงานในระดับพื้นที่ให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว รวมทั้งร่วมกันเก็บและตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้พลังงานที่เป็นผู้ป่วยฯ ให้เป็นปัจจุบัน
• ด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ใช้พลังงานเข้าใจสิทธิ การยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล

กฟน. และ กฟภ. ตอบสนองนโยบายฯ พร้อมเดินหน้าการทำงานอย่างต่อเนื่อง
นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ
ด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล ในการยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้าได้ในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้า หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีบุคคลอยู่ในความดูแล หรือมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า ในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายดังกล่าว กฟน. ดำเนินการตามประกาศของ สำนักงาน กกพ. มาอย่างต่อเนื่อง
โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อเดินเครื่องมือทางการแพทย์ โดยเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุกผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ กฟน. สามารถเข้าถึง และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อให้กลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับพลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
ด้าน นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า กฟภ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้าในเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประชาชนทุกคน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการไฟฟ้าโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วยระบบ GIS และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักเกณฑ์ยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า (ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า)​
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีหลักเกณฑ์ยกเว้นการงดจ่ายไฟฟ้า (ไม่ตัดกระแสไฟฟ้า) กับสถานที่หรือบ้านที่มีผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล ดังนี้
• ผู้ใช้ไฟฟ้าติดต่อลงทะเบียนที่สำนักงาน กฟภ. ในพื้นที่ทุกแห่ง โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ใช้ไฟฟ้า
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย หรือสำเนา
  • ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล มีอายุไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการรักษาพยาบาล
  • หลักฐานแสดงสถานที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้า หรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสำเนาทะเบียนบ้านสถานที่ใช้ไฟฟ้า
  • ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ต้องมีหลักฐานแสดงตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
    • กฟภ. สงวนสิทธิ์การเข้าตรวจสอบสถานที่ใช้ไฟฟ้า
    • ยื่นลงทะเบียนเพื่อรักษาสิทธิต่อเนื่องภายในวันที่ 31 มกราคม ของทุกปี
    • กรณีไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเดินเครื่องมือทางการแพทย์ ต้องแจ้งยกเลิกกับ กฟภ. ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความจำเป็น
    • กฟภ. จะยกเลิกสิทธิ ในกรณีดังนี้
  • ค้างชำระค่าไฟฟ้ารวมกัน 3 เดือน
  • ตรวจพบการกระทำโดยมิชอบ/การละเมิดการใช้ไฟฟ้า
  • แจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ
  • ตรวจพบผู้ป่วยยกเลิกการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ แต่ไม่มีการแจ้งยกเลิกกับ กฟภ.
    ทั้งนี้ ไม่ครอบคลุมกรณีไฟดับจากเหตุสุดวิสัย/ภัยธรรมชาติ การงดจ่ายไฟฟ้า คือ ไม่ตัดกระแสไฟฟ้าไม่ใช่การยกเว้นค่าไฟฟ้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 1129 PEA Contact Center หรือที่สำนักงาน PEA (กฟภ.) ทั่วประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แจ้งข้อมูลเบาะแส