กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานผลการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ต.ค. 67) พบว่ามีจำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 146% โดยในภาพรวมมีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในประเทศไทยสะสม 10 เดือน จำนวน 76,953 ราย เพิ่มขึ้น 1,641 ราย (2.18%) ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ด้วยปัจจัยด้านการกระตุ้นการลงทุน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิน 90,000 ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยถึงผลการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 10 เดือน
(22 พ.ย. 67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยถึงผลการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 251 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 141 ราย เพิ่มขึ้น 128% มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 45,739 ล้านบาท คิดเป็น 28% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 27,148 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146% เป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 86 ราย ลงทุน 16,184 ล้านบาท จีน 59 ราย ลงทุน 8,030 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 88 ราย ลงทุน 16,306 ล้านบาท
10 เดือน มีต่างชาติขออนุญาตลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 700 ราย เกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 3,000 คน
สำหรับการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวน 786 ราย แบ่งเป็น
1) การลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย และ 2) การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 605 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 161,169 ล้านบาท
เกิดการจ้างงานคนไทย 3,037 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 2) สิงคโปร์
3) จีน 4) สหรัฐอเมริกา และ 5) ฮ่องกง
การจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน โตขึ้น 2.18% คาดตลอดปี 67 จัดตั้งธุรกิจใหม่ทะลุ 9 หมื่นราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจใหม่สะสม 10 เดือน (มกราคม – ตุลาคม 2567) พบว่า มีจำนวน 76,953 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 1,641 ราย (2.18%) ทุนจดทะเบียน 238,630.39 ล้านบาท ลดลง 282,952.67 ล้านบาท (54.25%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ซึ่งในปี 2567 ช่วง 10 เดือน มีประเภทธุรกิจที่จดทะเบียน
จัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
สำหรับคาดการณ์การจดทะเบียนตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ยังมีปัจจัยกระตุ้นด้านการลงทุน เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานปีงบประมาณ 2568 ที่เริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 (ตุลาคม 2567) การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ
ยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในสถานการณ์การประกอบธุรกิจ และความเชื่อมั่นในการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพิ่มขึ้นช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกิน 90,000 ราย