313 views

ข่าวปลอม ! กินมากแต่ไม่ถ่าย มีอาการท้องแข็ง ถ้าปล่อยไว้ปอดกับหัวใจจะทำงานผิดปกติ


ตามที่มีผู้โพสต์เตือนเรื่องสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่องกินมากแต่ไม่ถ่าย มีอาการท้องแข็ง ถ้าปล่อยไว้ปอดกับหัวใจจะทำงานผิดปกติ  สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยการกินมากแต่ไม่ถ่ายนั้นเรียกว่า ภาวะอุจจาระตกค้าง ซึ่งอาการที่เกิดมักจะประกอบด้วยปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดปนอุจจาระเนื่องจากริดสีดวง รับประทานอาหารได้น้อยมาก เบื่ออาหาร เรอเปรี้ยว และผายลมบ่อย ปัสสาวะบ่อยจากการที่กระเพาะปัสสาวะถูกกดทับ ปวดหลังส่วนล่าง หายใจไม่สะดวกเนื่องจากมีอุจจาระและลมในช่องท้องมากจนดันกะบังลม แต่จะไม่มีผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจโดยตรง

การป้องกันอุจจาระตกค้าง มีดังต่อไปนี้
1. ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน
2. ฝึกเบ่งถ่ายอุจจาระอย่างถูกวิธี โดยนั่งบนโถชักโครกแล้วโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย อาจใช้มือกด
ท้องด้านซ้ายล่างขณะขับถ่ายเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ไม่ควรเกร็งขณะเบ่งถ่าย
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่าง ๆ อาหารกลุ่มโปรไบโอติก โยเกิร์ต นมเปรี้ยว

4.ไม่กลั้นอุจจาระเด็ดขาด ควรขับถ่ายทันทีที่ปวด ไม่ควรพยายามเบ่งขณะที่ยังไม่ปวด
5.ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ลำไส้ได้บีบตัว และกระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ดีขึ้น
6.ปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้องหากมีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ccit.go.th หรือโทร. 02-547-0999


แทก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส