นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า วัยทำงานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศ มีแรงงานในสถานประกอบการกว่า 15 ล้านคน เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กรที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วัยแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและจิตใจ ทั้งจากการงาน หนี้สิน มีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวัง หมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ในปี 2565 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยทำงาน 9.43 ต่อแสนประชากร (3,650 คน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในวัยทำงานอยู่ที่ 45.24 ต่อแสนประชากร (17,499 คน) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเล็กน้อย
นางเดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. สานพลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์สุขภาพจิต และคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัด ดำเนินโครงการ “สร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ” ให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลสามารถให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวม (กาย ใจ การเงิน) แก่แรงงาน เพื่อจัดการความเครียด มีสุขภาพจิตดี มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤตได้ และส่งต่อความรู้ให้ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งยังเพิ่มผลิตภาพให้สถานประกอบการและประเทศด้วยขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลได้รับการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ จากสถานประกอบกิจการ 23 แห่งใน 8 เขตสุขภาพ รวมพนักงานกว่า 26.000 คน มีการจัดกิจกรรมสร้างสุขวัยทำงานและมีพนักงานเข้าร่วมแล้ว 2,110 คน คาดหวังให้เกิดรูปแบบการดำเนินการในสถานประกอบการนำร่อง ไปขยายผลในสถานประกอบการอื่นต่อไป
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิต ครั้งล่าสุด มีมติเรื่องสุขภาพจิตในสถานประกอบการ 2 ประเด็น
1.แก้กฎกระทรวงแรงงาน กำหนดให้จัดการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสวัสดิการ โดยตัดคำว่า “ทางเลือก” ออก เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งทุกขนาด ต้องดำเนินการตามกฎ เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจสุขภาพประจำปีเฉพาะในสถานประกอบการขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ค่อยดำเนินการเรื่องนี้มากนัก
2.กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี ต้องครอบคลุมเรื่องสุขภาพจิตด้วย เพราะที่ผ่านมาตรวจเฉพาะสุขภาพกายเท่านั้น และเพื่อป้องกันปัญหาเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สถานประกอบการ กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาโปรแกรม MENTAL HEALTH CHECK IN ตรวจเช็คสุขภาพใจ สำหรับสถานประกอบการผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 2 โปรแกรม1.โปรแกรมมาตรฐาน จัดการ 3 ปัญหาสุขภาพจิตของแรงงาน การเงิน ความเครียด และสัมพันธภาพ 2.โปรแกรมเชิงวิสัยทัศน์ มุ่งพัฒนาให้บุคลากรมีความสุขจากภายใน
โดยคาดว่ากฎกระทรวงแรงงานฉบับใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้