กรณีที่มีชาวกะเหรี่ยงบ้านขวัญคีรี ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการฯ ที่ไม่ได้มาจากความต้องการของคนในชุมชน รวมทั้งกระบวนการว่าจ้างบริษัทมาศึกษาผลกระทบไม่ชอบธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และการไม่รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งชุมชนยังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านที่ดินและด้านวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยง นั้น
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำงาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
สืบเนื่องจากนายอดิศักดิ์ ศักดิ์นภารัตน์ ขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้าง อ่างเก็บน้ำแม่งาว บริเวณบ้านแม่หยวก ม. 4 ต.หลวงเหนือ อ.งาว จ. ลำปาง เนื่องจากพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภองาว ได้แก่
1️ ตำบลบ้านร้อง
2️ ตำบลปงเตำ
3️ ตำบลนาแก
4️ ตำบลหลวงเหนือ
5️ ตำบลหลวงใต้
6️ ตำบลบ้านโป่ง
พื้นที่ 6 ตำบลนี้ มักประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยเป็นประจำ หากสามารถดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำงาวฯ ได้ จะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังสามารถบรรเทาความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ 6 ตำบลดังกล่าวด้วย
ส่วนข้อที่ว่าในพื้นที่ดังกล่าว การพัฒนาฝายต้นน้ำก็เพียงพอแล้ว นั้น
- ข้อเท็จจริง การสร้างฝายปริมาณน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ของราษฎรทั้ง 6 ตำบล หากเปรียบเทียบกับการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะสร้างความมั่นคงในเรื่องของการมีน้ำกินน้ำใช้และการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
สำหรับกรณีการจ้างบริษัทที่ปรึกษา นั้น เป็นการดำเนินการตามข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 จึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 19 พ.ย.2561 ข้อกำหนดตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้มีกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุม โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งในการประชุมปฐมนิเทศ ได้มีการเชิญกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการฯเข้าร่วมประชุม เพื่อให้รับทราบการดำเนินงานของกรมชลประทานในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ยังเหลือระยะเวลาที่จะต้องทำการศึกษาความเหมาะสมฯ อีกกว่า 300 วัน
➡️ ในระหว่างนี้กรมชลประทาน จะดำเนินการสร้างความเข้าใจให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังต้องศึกษาถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐศาสตร์อย่างละเอียดในระยะต่อไป
- ส่วนการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำทุกโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และพื้นที่ชุมชน นั้น
กรมชลประทาน ยืนยันว่า ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่กรมชลประทาน ได้ยึดมั่นในการดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ทุกโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สามารถเดินหน้าและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างยั่งยืนตลอดไป
- ข้อมูลจากกรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์