Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

706 views

กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อและ คกก.ปฏิรูปสื่อ แจ้งแนวปฏิบัติสื่อในภาวะวิกฤต ‼กับการรายงานสถานการณ์กรณีกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา


กรมประชาสัมพันธ์  ร่วมกับ 5 องค์กรวิชาชีพสื่อและ คกก.ปฏิรูปสื่อ แจ้งแนวปฏิบัติสื่อในภาวะวิกฤต ‼

กับการรายงานสถานการณ์กรณีกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา

 จากการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเกาะติดรายงานสถานการณ์กรณีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา วันที่ ๘-๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ๕ องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต จำนวน ๗ หมวด ๒๙ แนวปฏิบัติ

โดยศึกษาจากการถอดบทเรียนกรณีถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และวิกฤตการณ์อื่นๆของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางให้สื่อมวลชนใช้ในการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤต ได้ถูกต้องตามแนวทางจริยธรรมและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน
ซึ่งในประเด็นรายงานสถานการณ์กรณีกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา มีแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องดังนี้

 – ไม่นำเสนอข้อมูลหรือยอดผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากภาวะวิกฤตโดยการคาดเดาหรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้บัญชาการเหตุการณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเหตุการณ์นั้นๆ

 – คำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต หลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าว และภาษาที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรม และความสูญเสีย อันเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์นั้นๆ

 – ไม่นำข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบภาวะวิกฤตมานำเสนออันเป็นการละเมิดซ้ำ แม้ข้อมูลดังกล่าวจะปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ในวงกว้างไปแล้วก็ตาม

 – ไม่นำเสนอภาพหรือข้อมูลที่จะกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน จิตใจ ความสัมพันธ์ หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของแหล่งข่าวที่มีสถานะหรืออาจมีสถานะเป็นพยานบุคคลในสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

 – พึงปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการไม่ละเมิดเข้าไปในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตหวงห้าม เพื่อความปลอดภัยและไม่กระทบหรือกีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

 – พึงระมัดระวังการเสนอความคิดเห็นที่มาจากผู้ที่ไม่มีอำนาจในการให้ข้อมูลหรือผู้ที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเหตุดังกล่าว

 – พึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะการจำลองเหตุการณ์ ซึ่งต้องไม่เกินกว่าความเป็นจริง มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ ไม่สร้างความตื่นตระหนกหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และคำนึงถึงการให้รายละเอียดที่เด่นชัดของการก่ออาชญากรรมและพฤติกรรมความรุนแรงที่จะนำไปสู่การเลียนแบบในทางที่ไม่เหมาะสมของผู้ชม

– ผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่เป็นการเปิดเผย ข้อมูล รายละเอียดทางยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธีที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส