กรณีการขอรับเงินเยียวยารายละ 2,000 บาท จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มีการแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์
นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง กล่าวชี้แจงว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีระเบียบหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว สำหรับประชาชนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน อาทิ
- เด็ก
- คนพิการ
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่เดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
❌ ไม่ใช่สำหรับประชาชนทั้งหมดในภาพรวมของประเทศ
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พร้อมดูแลประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบและประเมินข้อเท็จจริงจากนักสังคมสงเคราะห์ว่า
- มีความเดือดร้อนอย่างไร
- ความต้องการเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด
ต้องวิเคราะห์เป็นรายกรณีตามขั้นตอน แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนในวงกว้าง แต่ผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นประชาชาชนกลุ่มเป้าหมายตามหลักเกณฑ์และระเบียบของเงินสงเคราะห์ต่างๆ อาทิ
- เงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย
- เงินสงเคราะห์กรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
หากเมื่อผ่านการพิจารณาจากนักสังคมสงเคราะห์แล้วเห็นสมควรในการช่วยเหลือ จึงจะมีการจ่ายเงินเยียวยารายละไม่เกิน 2,000 บาท
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรคโควิด-19 ที่ยังตกหล่นไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐกระทรวง พม. สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันสำรวจพื้นที่ทุกหมู่บ้านและทุกกลุ่มเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค. 2563 โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเชื่อมโยงกับทุกกระทรวง เพื่อดูแลประชาชนที่เดือดร้อนให้ครอบคลุมได้มากที่สุด และตกหล่นให้น้อยที่สุด
หากประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีความเดือดร้อน อยู่ในสภาวะยากลำบาก ตกงาน ไม่มีรายได้ สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ได้ทุกจังหวัด ในภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย หรือแจ้งมายัง สายด่วน พม. โทร 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม ตลอด 24 ชม.
ทั้งนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่