รัฐบาลเดินหน้าสนับสนุน การใช้ – การผลิต รถ EV เพิ่ม สู่เป้าหมายศูนย์กลางการผลิตอาเซียน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
มติคณะรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาท เป็นส่วนลดราคาให้ประชาชนที่สนใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้า หรือ รถEV ถือเป็นความพยายามต่อเนื่องของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการใช้และผลิตรถEV ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถสันดาปภายใน(รถที่ใช้น้ำมัน)
หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งในโลก อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งการเกิดรายได้ของประชาชนจากการจ้างงานและรายได้ของประเทศจากการที่ผู้ประกอบการมาลงทุนผลิตในไทย รวมทั้งเกิดประโยชน์จากอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถEV สถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้า(ชาร์จไฟ)
ความพยายามของรัฐบาล เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการสนใจมาตั้งฐานผลิตรถEV ในไทยมากขึ้น ประชาชนสนใจจองซื้อและใช้รถEV มากขึ้น ค่ายรถทยอยเปิดตัวรถEV รุ่นใหม่ต่อเนื่อง สถานีชาร์จไฟเริ่มมีมากขึ้น
รัฐบาลหนุนใช้-ผลิตรถEV ในไทย ต่อเนื่อง
แม้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายผลักดันการใช้และการผลิตรถEV ในไทยมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ปีนี้ 2565 ถือได้ว่าเป็นปีที่รัฐบาลสนับสนุนเข้มข้นขึ้น มีการออกมาตรการและแนวทางต่างๆมาตั้งแต่ต้นปี อาทิ
15 ก.พ.2565 ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV กระทรวงพลังงานเสนอ โดยสรุปได้แก่
1. เงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 %
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566
4. ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถEV ในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ
ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถEV ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2565 – 2566 ภายในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน ผู้ใช้สิทธิ์จะผลิตรถ BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น
26 ก.ค.2565 ครม.เห็นชอบ ลดภาษีประจำปีรถEV ที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 ลง 80% เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน เพื่อจูงใจให้มีการใช้รถEV มากขึ้น คาดว่าจะมีผู้ใช้รถEV นำรถมาจดทะเบียนตามมาตรการนี้ 128,736 คัน แล ครม.ยังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ให้ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) ที่ประกอบหรือผลิตในเขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตประกอบการเสรีตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยยกเว้นให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสาร ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และรถยนต์กระบะ มีผลตั้งแต่วันที่ร่างประกาศมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ล่าสุด 23 ส.ค.2565 ครม.อนุมัติงบ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต โดยนำไปเป็นส่วนลดให้แก่ประชาชนที่สนใจซื้อรถEV คันละ 18,000 – 150,000 บาท ดังนี้
1. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลด คันละ 70,000 บาท ส่วนรถที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาท
2. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาท
3. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 18,000 บาท
โดยผู้เข้าร่วมโครงการ(ค่ายรถ) จะต้องยื่นขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าของตนเองเป็นรายรุ่น เพื่อให้กรมสรรพสามิตพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำก่อนและหลังรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกแนะนำสำหรับยานยนต์รุ่นดังกล่าวสะท้อนถึงส่วนลดต่าง ๆ ที่ภาครัฐมอบให้ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ รวมทั้งนำส่งรวบรวมเอกสารหลักฐานการจำหน่ายและการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า ให้กรมสรรพสามิตเป็นรายไตรมาส เพื่อให้กรมสรรพสามิตดำเนินการพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนต่อไป
สำหรับเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจะมอบให้ค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปเป็นส่วนลดให้ประชาชนผู้สนใจซื้อรถEV มีข้อมูลจากกระทรวงการคลังพบว่า ในปีงบประมาณ 2565 จะมีผู้ได้รับสิทธิ แบ่งเป็นรถยนต์ 18,100 คัน รถจักรยานยนต์ 8,800 คัน
ทิศทางผู้ผลิต – ผู้ใช้ รถEV เพิ่มมากขึ้น
ค่ายรถที่ลงทุนผลิตรถ EV ในไทย ขณะนี้มีอยู่ 5 ค่าย คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปตั้งแต่ปี2563 ส่วนในปีนี้ 2565 มีเพิ่มมาอีก 3 ค่าย ซึ่งร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คือ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และล่าสุดเมื่อ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติการลงทุนบริษัท BYD จากประเทศจีน ที่จะลงทุนในพื้นที่EEC ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และ PHEV(รถที่ใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้าผสมน้ำมันเบบเสียบปลั๊ก) มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567
ส่วนค่ายรถ จาก ยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน อีกหลายค่ายอยู่ระหว่างการพิจารณาจะมาลงทุนผลิตรถEV ในไทย คาดว่าในเร็วนี้ๆ จะมีค่ายรถเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก
ขณะที่การใช้รถ EV ในไทยปีนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ช่วงปลายเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มียอดจองรถEV กว่า 3,000 คัน หรือคิดเป็น 10% ของยอดจองรถทั้งหมดภายในงาน รวมถึงกรณีที่ค่ายรถทยอยเปิดตัวรถEV รุ่นใหม่ ไม่กี่ชั่วโมงผ่านไปมียอดจองเต็มในแต่ละล็อตที่นำมาเปิดตัว
ส่วนสถิติ การจดทะเบียนใหม่รถยนต์EV ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ม.ค.- พ.ค 2565 มีจำนวน 5,702 คัน เพิ่มขึ้น 156.15% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดสะสม ณ วันที่ 31 พ.ค. 2565 จำนวน 17,026 คัน เพิ่มขึ้น 118.79% เทียบกับยอดสะสมช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยอดสนใจจองและจดทะเบียนใหม่รถEVที่มีมาก ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากมาตรการอุดหนุนส่วนลดราคาของรัฐบาล
อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องรถ EV มีแนวโน้มเติบโต
อุตสาหกรรมรถ EV เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากการลงทุน การจ้างงาน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากการผลิตรถแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีบริษัทไทยและต่างชาติเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้วกว่า 10 โครงการ บางโครงการได้เริ่มผลิตไปแล้ว
ด้านสถานี ให้บริการอัดประจุไฟฟ้า(ชาร์จไฟ) สำหรับรถEV ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมี 1,447 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นมาจากช่วงต้นปีที่มีอยู่เพียง 944 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ 4 มี.ค.2565) โดยแต่ละแห่งส่วนใหญ่มีหัวจ่ายไฟไม่เกิน 3 หัวจ่ายและกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ทางรัฐบาลจึงตั้งเป้าให้มีหัวจ่ายไม่น้อยกว่า 12,000 หัวจ่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ของปะเทศภายในปี2573 ด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ในการจัดตั้งสถานีชาร์จไฟรถ EV ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี
สำหรับกรณีลงทุนสถานีชาร์จไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่ายประเภท Quick Charge ส่วนกรณีอื่นให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3ปี พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Low Priority ราคาหน่วยละ 2.69 บาท แก่ผู้ประกอบการจนถึงปี2568 ซึ่งหากเกิดการลงทุนตั้งสถานีชาร์จได้ครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากจะรองรับการใช้งานรถEV ได้อย่างเพียงพอแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจในแต่ละท้องที่จากการลงทุนและใช้บริการชาร์จไฟด้วย
ทั้งนี้จากมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุน ทำให้มีคนสนใจหันมาใช้รถEVมากขึ้น ตลาดก็กำลังโตขึ้นตามลำดับ ผู้ผลิตกล้าเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อย่าง สถานีชาร์จ ก็กล้าลงทุนมากขึ้น จึงคาดว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้ตามนโยบาย 30@30 ไทยจะผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์(ZEV) อย่างน้อย 30% หรือประมาณ 725,000 คัน จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถEV ของภูมิภาคอาเซียน และศูนย์การผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง