- หากผู้กระทำความผิด ไม่มาชำระค่าปรับใบสั่ง ตามเวลาที่กำหนด จะมีออกใบเตือน 1 ครั้ง
- หากยังไม่มาจ่ายค่าปรับ จะ ส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี และ ออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ 2 ครั้ง
- หากยังไม่มาชำระอีกจะเป็นหมายจับ ซึ่งจะกระทบกับการใช้ชีวิต รวมถึงการสมัครงาน เพราะจะมีประวัติว่าถูกออกหมายจับ โดยมาตรการจะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
วันที่ 20 มิถุนายน 2565 พลตำรวจตรีจิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า หลังพบที่ผ่านมามีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายจราจร และไม่มาชำระค่าปรับ ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำนวนมาก และยังคงมีพฤติการณ์ซ้ำซาก เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เกิดปัญหาการจราจรตามมา
กองบัญชาการตำรวจนครบาล จึงกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดลักษณะดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานจราจร จะออกใบสั่งให้กับผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ทั้งแบบความผิดซึ่งหน้า และความผิดที่ตรวจจับด้วยกล้องทั้งทางไปรษณีย์ หรือใบสั่งอิเลกทรอนิกส์ หากผู้กระทำความผิด ไม่มาชำระค่าปรับ ตามเวลาที่กำหนด จะมีออกใบเตือน 1 ครั้ง โดยจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดชำระค่าปรับในใบสั่ง หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบเตือน และผู้กระทำความผิดยังไม่มาชำระค่าปรับ นอกจากการส่งข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามมาตรการงดออกเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีแล้ว พนักงานสอบสวน จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อให้มาชำระค่าปรับ หากไม่มาพบตามหมายเรียกทั้ง 2 ครั้ง พนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องขออนุมัติศาลในเขตพื้นที่ เพื่อออกหมายจับ
ส่วนกรณีถูกออกหมายเรียก หรือหมายจับ ผู้ต้องหาจะถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามข้อหาที่ผู้ต้องหากระทำผิดตามใบสั่ง และความผิดข้อหาตามมาตรา 155 “ผู้ใดไม่ชำระค่าปรับในเวลาที่กำหนดในใบสั่ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท” ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ต้องหา ต้องเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนด้วยตนเองที่สถานีตำรวจที่ออกหมายเรียก หรือหมายจับ และจะถูกบันทึกในระบบฐานข้อมูลหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินชีวิต การสมัครงาน การเดินทางออกนอกประเทศ เพราะจะมีประวัติว่าถูกออกหมายจับ
พร้อมระบุ มาตรการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะทำการตรวจสอบใบสั่งที่ไม่หมดอายุความ เน้นบุคคลกระทำความผิดซ้ำบ่อยครั้งก่อน ส่วนคนที่จ่ายค่าปรับแล้ว พนักงานสอบสวน ก็จะทำเรื่องถอนหมายจับออกจากระบบ
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ในเขตกรุงเทพมหานคร ยอดสูงสุดของผู้ที่ไม่จ่ายค่าปรับใบสั่งมากที่สุดคือ 59 ใบ ซึ่งจากนั้นจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง มาตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มีพื้นที่อื่นอีกหรือไม่ เพื่อดำเนินการมาตรการดังกล่าวต่อไป