นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 และคณะอนุกรรมการ ประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย
พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองประธานคณะกรรมการ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะกรรมการ ทำหน้าที่ในการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ และวางแผนขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดนอกเหนือจากหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจอยู่แล้วในทุกมิติ ด้วยการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนที่พบเห็นได้มีโอกาสร่วมมือกับภาครัฐด้วยการแจ้งเบาะแสผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้ายาเสพติด และกลุ่มมิจฉาชีพที่แสวงหาประโยชน์จากบุคคลดังกล่าว โดยจัดให้มีระบบการแจ้งข้อมูล การคุ้มครองพยาน และการบูรณาการประสานงานรับผู้ป่วยและเคลื่อนย้ายเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ณ สถานที่บำบัดรักษา จนจบกระบวนการ เพื่อให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติดได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยมีศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย 1567 เป็นสายด่วนหลักในการบูรณาการศูนย์บริการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด หรือ “สายด่วนเลิกยาเสพติด” ร่วมกับภาคีเครือข่ายสายด่วนทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง และมุ่งพัฒนาสู่ระบบการโอนสายส่งต่อ (ระบบ Call Forward) โดยใช้ฐานข้อมูลผู้เสพฐานเดียวในการบูรณาการความช่วยเหลือ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานการณ์โควิด-19 ให้ได้เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการทำหน้าที่ที่มีความสำคัญของชาติ ในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการมุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการตามแนวทางการดำเนินงานศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 64 ที่ผ่านมา มีหลักการสำคัญในการเน้นการส่งผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดแบบสมัครใจ โดยมอง “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” เพื่อบำบัดรักษาให้ได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก เป็นการคืนคนดีสู่สังคม รวมทั้งดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดตามกฎหมาย พร้อมจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม กว่า 1,200 แห่ง เพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดรักษาได้รับการฟื้นฟูสภาพทางสังคม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ไม่กลับมากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีก โดยมีกลไกกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการพัฒนาชุมชน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนทั้งมิติป้องกันปราบปรามและการช่วยเหลือฟื้นฟู ทั้งนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการและเน้นย้ำในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด (Demand Side) และสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เพื่อลดผู้ผลิต/ผู้ค้ายาเสพติด (Supply Side) ให้หมดไปอย่างยั่งยืน โดยทุกองคาพยพของกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด “เชิงรุก” เพื่อทำให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน ดูแลซึ่งกันและกัน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานเงินขวัญถุง หรือ “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ให้กับชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ที่มีจิตใจแน่วแน่ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานขับเคลื่อนแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพิ่มเติม ด้วยการกำชับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ผอ.รมน.จังหวัด) ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการ และสั่งการฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เป็นไปอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง ไม่เกิดช่องว่างในด้านการบริหารจัดการกำลังพล รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 75,000 หมู่บ้าน ใน 878 อำเภอ เป็นตัวแทนของประชาชน (Active Agent) ในการวางระบบเฝ้าระวัง ดูแล ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด เป็นกำลังเสริมเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือเรียกอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นเหมือน “ตำรวจบ้าน” ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในชุมชน พร้อมทั้งจัดทำสัญญาประชาคมร่วมกันระหว่างนายอำเภอและคณะกรรมการหมู่บ้านว่า หากพบผู้เสพ หรือผู้ค้า ในพื้นที่ ต้องแจ้งเบาะแสให้กับนายอำเภอ เพื่อนำผู้หลงผิดเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคม และผู้ค้าต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นการสร้างความตื่นตัวในการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านที่มีอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว ให้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ จังหวัดอุดรธานี โดยกลไกฝ่ายปกครอง ทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการขยายผลจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ทำให้ได้ของกลางกว่า 2 ล้านเม็ดอีกด้วย
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในด้านการค้นหาเป้าหมายของการแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการทำงานเชิงรุกโดยนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอได้เป็นแม่ทัพในการลงไปสำรวจ (Re X-Ray) ปัญหาความเดือดร้อนของทุกครัวเรือนเป้าหมายใน 76 จังหวัดโดยใช้แพลตฟอร์ม ThaiQM ของกรมการปกครอง ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 พบว่ามีครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากลูกหลานติดยาเสพติดกว่า 257,439 ครัวเรือน และจะดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จทั่วประเทศภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจในครั้งนี้ นับเป็นหัวใจสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อจะได้บูรณาการข้อมูลความเดือดร้อนด้านยาเสพติดในระดับพื้นที่ร่วมกับทุกส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ทั้งการคืนคนดีให้กับสังคม และนำผู้กระทำผิดดำเนินคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย และเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้ ในด้านการบริหารจัดการบูรณาการศูนย์บริการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด หรือ “สายด่วนเลิกยาเสพติด” จากข้อมูลตั้งแต่ 6 – 23 พ.ค. 65 ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทยได้รับแจ้งข้อมูลปัญหายาเสพติด รวม 84 เรื่อง แบ่งเป็น ขอให้ภาครัฐรับผู้เสพเข้ารับการบำบัด 51 เรื่อง แจ้งเหตุมีผู้เสพยาคลุ้มคลั่ง 22 เรื่อง และแจ้งเบาะแส 11 เรื่อง ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย จะได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เป็นสายด่วนหลักในการบูรณาการศูนย์บริการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ให้เป็นที่รับรู้เพิ่มเติมอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งดำเนินแนวทางการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (CBTx) เพื่อให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันดูแลคนในชุมชน/หมู่บ้าน