574 views

ดำเนินคดี “นาราเครปกะเทย – 2 บริษัท” แจ้ง ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ


ดำเนินคดี “นาราเครปกะเทย – 2 บริษัท” หลังมีผู้ร้องทุกข์ให้เอาผิด ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ ตร. ชี้ สื่อโซเชียลโฆษณาสินค้า ต้องมีจรรยาบรรณ

หลังมีการเผยแพร่สื่อโฆษณาจากแพลตฟอร์มออนไลน์หนึ่ง ล้อเลียนความเจ็บป่วย แสดงออกเป็นมุขตลกหรือหมิ่นเหม่ เพื่อมุ่งหวังผลทางการค้าหรือในทางใดก็ตาม นำไปเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบ สู่ความแตกแยกในสังคม

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับ

1. นายอนิวัติ ประทุมถิ่น (นารา เครปกะเทย)

2. บริษัท อินเตอร์เซคท์ ดีไซน์ แฟคทอรี่ จำกัด

3. บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด

โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ได้ร่วมกันจัดทำสื่อโฆษณาที่มีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่น ล้อเลียน ผู้ป่วยและผู้พิการ และมีเจตนาในการพาดพิง ดูหมิ่น สถาบันฯ ให้ได้รับความเสื่อมเสีย ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นสื่อโฆษณาดังกล่าวสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการ ล้อเลียน ดูหมิ่น สถาบันฯ ผู้กล่าวหาจึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (3) ซึ่งพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว โดย พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบคอบและให้ประสานข้อมูลกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อีกส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากกรณีของ นายศรีสุวรรณฯ แล้ว วันเดียวกันนี้ เวลา 11.00 น. ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) โดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ได้มาพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เพื่อประสานข้อมูลเพื่อให้ บก.ปอท. ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลเดียวกัน ตามพฤติการณ์ ข้อเท็จจริงเดียวกัน ในส่วนนี้ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สุดท้าย บก.ปอท. ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน รวมถึงบริษัท เอเจนซี ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ ควรคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา ของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย อันได้แก่

1. การโฆษณาทุกชิ้นต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง

2. การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดีและระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ

3. การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา นอกจากนี้การนำลักษณะความพิการมาล้อเลียนในลักษณะไม่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่งด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส