- พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H3N8 ในประเทศจีน พบมีความสามารถแพร่เชื้อสู่คนในระดับต่ำ
- ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกมาแล้ว 14 ปี
- ไทยยังคงความต่อเนื่องของการเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ และชะลอการนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ปีก จากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก
วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 อย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม และป้องกันโรคไข้หวัดนกเข้าสู่ประเทศไทย หลังจากมีการพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H3N8 ในประเทศจีน โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประเมินเบื้องต้นว่า เชื้อดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ในระดับต่ำ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดยังคงอยู่ในวงแคบ
นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่พบรายงานการเกิดโรคไข้หวัดนกมาแล้วเป็นระยะเวลา 14 ปี โดยข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานผู้ติดเชื้อระหว่างปี 2547-2549 พบผู้ป่วย 25 ราย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกำชับให้กรมปศุสัตว์ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย
นายธนกรฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบว่ามีการประชุมซ้อมแผนรับมือโรคดังกล่าวระดับกรมและจังหวัด รวมทั้งได้ตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังโรคสัตว์ตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด สุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกในพื้นที่เสี่ยง อย่างพื้นที่ชายแดน พื้นที่นกอพยพและวางไข่ และพื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกหนาแน่น นอกจากนี้ ยังคงความต่อเนื่องของการเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ปีกภายในประเทศ และชะลอการนำเข้าสัตว์ ซากสัตว์ปีก จากประเทศที่เกิดโรคไข้หวัดนก ส่วนสัตว์ปีกเลี้ยงในระบบฟาร์มได้กำชับให้ทำความสะอาดโรงเรือนและบริเวณโดยรอบอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และควบคุมระบบความปลอดภัยภายในฟาร์ม
“นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพของพี่น้องชาวไทย ได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือระหว่างกันทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดและพร้อมดูแลคนไทยให้ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกร่วมกันประเมินสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีความเสี่ยงหรือผิดปกติ ขอให้งดนำไปขาย แจก หรือนำไปประกอบอาหาร พร้อมขอให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและดำเนินมาตรการควบคุมโรค” นายธนกรฯ กล่าว