วันที่ 7 มีนาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งประสานให้ความช่วยเหลือในการอพยพคนไทยในประเทศยูเครนกลับประเทศไทย ณ วันที่ 5 มี.ค. 2565 มีผู้ได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับมาถึงไทยแล้วทั้งหมด 5 ชุดรวม 197 คน ส่วนที่กำลังทยอยเดินทางกลับ นั้น วันนี้มีชุดที่จะเดินทางจากโปแลนด์ จำนวน 14 คน และวันที่ 8 มี.ค. เดินทางจากโรมาเนีย จำนวน 13 คน
ทั้งนี้ จากผู้ที่เดินทางกลับมาแล้ว 197 คน มี 154 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ คิดเป็นยอดเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,310,000 บาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนแรงงานที่กำลังจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับการเป็นสมาชิกและนำส่งเงินเข้าสมทบกองทุนฯ ก่อนออกเดินทางไปทำงาน เพื่อเป็นหลักประกันให้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นระหว่างที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย เสียชีวิต หรือแม้แต่การได้รับผลกระทบจากสงคราม
สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ นั้นสามารถสมัครได้ทั้งกรณีที่เป็นผู้เดินทางไปทำงานโดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง และการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง โดยการสมัครและนำส่งเงินสมทบก่อนออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
อัตราเงินนำส่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1) 500 บาท สำหรับการเดินทางไปทำงานในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี
2) 400 บาท สำหรับการเงินทางไปทำงาน ประเทศบรูไน กาตาร์ คูเวต บาห์เรน โอมาน อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย โมร็อคโก จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จิบูตี ตูนีเซีย ซูดาน โซมาลี แอลจีเรีย เลบานอน ลิเบีย สิงคโปร์ ซีเรีย เยเมน อียิปต์ อิรัก มอริเตเนีย อิหร่าน ฮ่องกง และ
3) 300 บาท ประเทศอื่นๆ นอกจากประเทศในกลุ่มที่ 1 และ 2
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายสำหรับสมาชิกกองทุนฯ มีทั้งหมด 9 กรณี ดังนี้
1.กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นให้สมาชิกได้เดินทางกลับประเทศไทยตามที่จ่ายจริง โดยจ่ายตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
2.กรณีประสบอันตรายก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
3. กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท
4.กรณีประสบอันตรายจนพิการสงเคราะห์คนละ 15,000 บาท ทุพพลภาพ สงเคราะห์คนละ 30,000 บาท
5. ประสบปัญหาในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น ตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท
6. ถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม กรณีทำงานไม่ถึงหกเดือน สงเคราะห์คนละ 25,000 บาท ทำงานมากกว่าหกเดือน สงเคราะห์ 15,000 บาท
7. กรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท
8. กรณีเสียชีวิตก่อนเดินทางหรือขณะกลับมาพักที่ประเทศไทย สงเคราะห์จำนวน 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท
9.กรณีถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดซึ่งมิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาในต่างประเทศ หรือเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน ให้จ่ายเป็นค่าทนายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท