Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

353 views

Before & After “บ้านมั่นคงริมคลอง” รัฐฯ แก้ปัญหารุกคลอง สร้างคุณภาพชีวิตชุมชนให้ดีขึ้น


สิ่งปลูกสร้างของชุมชนแออัดรุกล้ำคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ และบางพื้นที่ของปริมณฑล เป็นภาพชินตามาหลายทศวรรษและเป็นปัญหาเรื้อรังหลายด้าน ปัญหาขยะ สิ่งสกปรก น้ำเน่าเสียในลำคลอง และทัศนียภาพไม่สวยงาม

จากข้อมูลของผู้คนที่อาศัยในชุมชนริมคลองสายหลักของกรุงเทพฯ อย่าง คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร พบว่าหลายต่อหลายครอบครัวตั้งรกรากสร้างที่อยู่อาศัยทั้งที่ริมคลองและรุกล้ำลงไปในคลองมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายถึงรุ่นพ่อแม่ หรือราว 60 – 70 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่นั้นเรื่อยมาก็มีการรุกล้ำเพิ่มเติมต่อเนื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จึงตามมา ทั้งขยะ สิ่งสกปรก น้ำที่ผ่านการใช้ในชีวิตประจำวันถูกทิ้งลงสู่คลอง น้ำจึงเน่าเสีย ขยะจำนวนมากลอยเกาะเป็นแพแผ่หราในคลอง กลายเป็นภาพที่ไม่พึงประสงค์ได้พบเจอ ทำลายทัศนียภาพ โดยเฉพาะขยะซึ่งพบข้อมูลจากกรุงเทพฯ เมื่อปี 2563 เจ้าหน้าที่ กทม. เก็บขยะในคู คลอง แม่น้ำ และหน้าสถานีสูบน้ำได้มากกว่าวันละ 10 ตัน ในวันฝนตกกว่า 20 ตัน

ปัญหาต่อการระบายน้ำและน้ำท่วม

ขยะและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำคลอง เป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งต่อการระบายน้ำ ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากขยะได้ลอยไปปิดและอุดตันช่องระบายน้ำของสถานีสูบน้ำแต่ละแห่ง ประสิทธิภาพการระบายจึงลดลง ขณะที่สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ขยายตัวต่อเนื่อง เสาและตัวบ้านก็ขวางทางน้ำไหลไปสู่สถานีระบาย น้ำที่มีปริมาณมากขึ้น เมื่อฝนตก จึงไหลไปสู่สถานีระบายได้ช้าลงจนเกิดน้ำเอ่อตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ริมคลองและพื้นที่ชั้นใน ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้นกรณีคลองลาดพร้าว ที่มีความยาวราว 22 กิโลเมตร ไหลผ่าน 8 เขตของ กทม. ตั้งแต่วังทองหลางถึงสายไหมและดอนเมือง เดิมทีคลองคลาดพร้าวมีความกว้างเฉลี่ยราว 35 เมตร แต่เมื่อมีการรุกล้ำลำคลองจากสองฝั่งกว่า 50 ชุมชน กว่า 7,000 ครัวเรือน ความกว้างของคลองลาดพร้าวจึงเหลือประมาณ 10 เมตร ในหลายช่วงทำให้พื้นที่รับน้ำเพื่อระบายหรือแก้มลิงลดลงจากสิ่งกีดขวางดังกล่าว

ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต

คำว่ารุกล้ำ แน่นอนว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น ชาวชุมชนที่อยู่ในสิ่งก่อสร้างที่รุกคลองจึงมีความไม่แน่นอนว่าจะถูกไล่รื้อหรือถูกดำเนินคดีเมื่อไหร่ ส่วนด้านคุณภาพชีวิตย่อมไม่ดีแน่ เพราะสภาพบ้านเรือนที่เสื่อมโทรมไม่แน่นหนามักเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะภัยจากสิ่งแวดล้อม อย่างอันตรายจากคลื่นในคลองซัด ภัยจากแรงลมแรงฝนกระหน่ำ หรือภัยจากปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นได้ง่ายในบ้านที่ไม่มั่นคงเช่นนั้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เพราะผู้ที่อาศัยในสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลองมักอยู่ใกล้กับน้ำเสียเหม็นเน่าและขยะจำนวนมาก

ที่มาของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคลอง คู ลำกระโดง รวมกัน 1,980 สาย ความยาวรวมประมาณ 2,700 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ถูกรุกล้ำ 1,161 สาย มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำประมาณ 23,500 หลัง สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำและขยะในคลองได้สะท้อนปัญหาออกมาชัดเจนเมื่อปลายปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ สิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำและขยะเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งต่อการระบายน้ำดังที่กล่าวมา ชุมชนริมคลองจึงมักได้รับผลกระทบน้ำท่วมก่อนแล้วจึงทะลักเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน

รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญ เริ่มแก้ปัญหาเรื้อรัง

เมื่อปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงปัญหาจึงกำหนดมาตรการจัดระเบียบ แก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและก่อสร้างที่อยู่อาศัยรุกแนวลำคลองและทางระบายน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะเวลา 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” 

พอช. – กทม. รับทำโครงการให้ประสบผลสำเร็จ

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง เริ่มดำเนินการในปี 2559 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อน 

สร้างเขื่อนระบายน้ำ กำจัดขยะ แก้น้ำท่วม ปรับปรุงสภาพน้ำให้กลับมาใสขึ้น

ในส่วนการสร้างเขื่อนระบายน้ำ กทม. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 1,646 ล้านบาท ในช่วงต้นนำไปว่าจ้างเอกชนก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำที่คลองลาดพร้าวก่อน ระยะทาง 45 กิโลเมตร ทั้งสองฝั่งคลอง เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี2559 ล่าสุดมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 55 ส่วนคลองเปรมประชากร สร้างสำเร็จไปแล้ว 2 ช่วง ระยะทางรวม10.81 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างช่วงที่ 3 – 4 โดยทั้งสองคลองในแต่ละช่วงที่สร้างเขื่อนก็มีการปรับสภาพน้ำและกำจัดขยะไปด้วย

บ้านมั่นคงริมคลอง สำเร็จให้เห็นเป็นระยะ

ขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัย พอช.รับงบประมาณกว่า 4,061 ล้านบาทจากรัฐบาล นำร่องชุมชนคลองลาดพร้าว 50 ชุมชน 7,069 ครัวเรือน และต่อเนื่องมาบางชุมชนของคลองเปรมประชากร เริ่มก่อสร้างปี 2559 เช่นกัน โดยยึดตามรูปแบบ ‘บ้านมั่นคง’ แต่มีแนวทางที่แตกต่างบ้างหลัก ๆ คือ หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ (หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนฯ แล้ว) จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี อัตราค่าเช่าประมาณ 1.25 – 4 บาท/ตารางวา/เดือน ทุกครอบครัวจะได้รับที่ดินเท่ากัน ขนาดบ้านประมาณ 4×6 – 4×8 ตารางเมตร มีทั้งบ้านชั้นเดียวและ 2 ชั้น บางชุมชนมี 3 ชั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้านและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ ประมาณเดือนละ 1-3 พันบาทเศษ

รัฐบาลโดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อก่อสร้างบ้านไม่เกิน 330,000 บาท/ครัวเรือน และสนับสนุนงบประมาณสร้างสาธารณูปโภค – เงินอุดหนุน 147,000 บาท/ครัวเรือน หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง เช่น ที่ดินของบริษัทในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท ส่วนการสร้างบ้าน ชุมชนจะคัดเลือกบริษัทหรือผู้รับเหมามาสร้างบ้านทั้งชุมชน มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้มีเป้าหมาย 13,455 ครัวเรือน จากคลองลาดพร้าว คลองบางซื่อและคลองเปรมประชากร เริ่มนำร่องก่อสร้างที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร 

ข้อมูลจาก พอช.เมื่อกรกฎาคม 2564 พอช.ก่อสร้างบ้านในชุมชนริมคลองลาดพร้าว ที่ครอบคลุมพื้นที่ 8 เขตไปแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,536 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 50.02 ของกลุ่มเป้าหมาย คลองเปรมประชากร ครอบคลุม 4 เขตและบางพื้นที่ของจังหวัดปทุมธานี สร้างแล้ว 668 ครัวเรือน หรือร้อยละ 10.46 ของกลุ่มเป้าหมาย  

บ้านมั่นคงริมคลอง ยกระดับคุณภาพชีวิต – มีรายได้เพิ่ม

จนถึงขณะนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังคงเดินหน้าก่อสร้างบ้านมั่นคงริมคลองและเขื่อนระบายน้ำต่อไป อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคลองสายสำคัญในกรุงเทพฯ จะต้องพลิกโฉมเปลี่ยนแปลงครบถ้วนตามเป้าหมาย ที่สำคัญคือคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนริมคลองจะดีขึ้นอีก เพราะไม่ต้องอยู่ในสิ่งปลูกสร้างที่เสื่อมทรุด รุกล้ำคลองและรายล้อมด้วยขยะ แต่กลับได้อยู่บ้านริมคลองที่สภาพมั่นคงแน่นหนา สวยงาม มีสาธารณูปโภค มีพื้นที่ส่วนกลางไว้พักผ่อนและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ และมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอนประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านมั่นคงริมคลองที่สร้างแล้วเสร็จมาแล้วหลายแห่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส