Font Resizer

A Decrease font size. A Reset font size. A Increase font size.

361 views

ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ตรวจ “หนี้เกษตรกร” พร้อมวางแนวทางช่วยเหลือ


วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดนโยบายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยธรรมชาติ ล่าสุดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะธนาคารของรัฐ ได้ดำเนินการให้ผู้แทนแต่ละสาขาเข้าพบลูกค้าทุกรายเพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพและรายได้ พร้อมกำหนดแนวทางบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกค้าแต่ละราย ควบคู่การเติมสินเชื่อใหม่ ในการฟื้นฟูอาชีพอย่างยั่งยืน พร้อมช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ ทั้งเกษตรกร บุคคล ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ มีเกษตรกรที่ใช้บริการสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. จำนวน 4.83 ล้านราย การให้พนักงานของ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่พบลูกค้าเพื่อสอบถามข้อมูลการประกอบอาชีพ ที่มาของรายได้มาประเมิน โดยวิเคราะห์ศักยภาพสมรรถนะและความสามารถในการประกอบอาชีพ ความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อทำการบริหารจัดการหนี้ให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย  รวมถึงการเติมสินเชื่อใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าที่มีหนี้สินเป็นภาระหนัก เนื่องจากรายได้ครัวเรือนลดลงหรือไม่ได้มีรายได้เพียงพอเพราะเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ชราภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังเสริมสภาพคล่องในการลงทุนและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผ่านโครงการชำระดีมีคืน วงเงินงบประมาณ 1,200 ล้านบาท ให้กับลูกค้าที่นำเงินมาชำระหนี้ โดยจะทำการคืนดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากลูกค้าโดยตรง ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่เกินรายละ 1,000 บาท ล่าสุดมีการคืนดอกเบี้ยไปแล้วกว่า 622 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 850,000 ราย และโครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด โดยจะลดดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมถึงเบี้ยปรับสูงสุด ไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 มีนาคม 2565 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินที่กำหนด โดยมีการช่วยเหลือไปแล้วกว่า 1,110 ล้านบาท

“การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นวาระสำคัญที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน โดยมีการออกมาตรการให้การช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มุ่งหวังให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนและภาคเอกชนเพื่อให้การขับเคลื่อนฟื้นตัวเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและตรงจุดให้มากที่สุด” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข้อมูลเบาะแส