พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งขาติ กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ.2565 ว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564 พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ปี 2564 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย สาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจาก ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น
มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พบเป็นอันดับที่ 2 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 585 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึง ประชาชนอาจขาดการระวังป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์/ข้อมูลคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์
ส่วนการหลอกขายสินค้า/บริการ พบว่ามาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท
จากสถิติดังกล่าวข้างต้นทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิด หรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น การปกปิดตัวตนโดยนำภาพหรือชื่อบุคคลอื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม หรือใช้บัญชีอวตา (Avatar) , การปกปิดที่อยู่ไอพี (ip address) , การใช้ช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ในการรับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือ การซื้อบัญชีธนาคารจากผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย