จากกรณีที่โลกออนไลน์เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า “มีการพบโควิดสายพันธุ์โอไมครอนนานแล้วตั้งแต่เดือน กรกฎาคม แต่องค์การอนามัยโลกปิดข่าว และนำไปสู่ทฤษฎีสมคบคิดว่า บริษัทขายวัคซีนกับ WHO ร่วมกัน “ลงโทษ” แอฟริกาใต้ที่แอบรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมกลอุบายขายวัคซีน” จากการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นข้อมูลเท็จ
โดย สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุ กรณีที่โลกออนไลน์สับสน เข้าใจผิดว่ามีการพบ โควิด “สายพันธุ์โอไมครอน”ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564 เป็นเพราะว่า ในบทความของ World Economic Forum ระบุข้อมูลในบทความว่า “เผยแพร่ครั้งแรก 12 กรกฎาคม 2564” ชื่อบทความว่า Explainer: This is how scientists detect new variants of COVID-19 และเนื่องจากว่ามีข้อมูลของสายพันธุ์โอไมครอนอยู่ในบทความด้วย จึงทำให้โลกออนไลน์เข้าใจผิดว่า ความจริงแล้วมีการพบสายพันธุ์ดังกล่าวตั้งแต่ 12 กรกฎาคม 2564 ก่อนที่ จะมีรายงานการพบสายพันธุ์โอไมครอนในแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 และถูกองค์การอนามัยโลกกำหนดให้สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์น่ากังวล (Variants of Concern) นำไปสู่การเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดมากมายบนโลกออนไลน์
ซึ่งสาเหตุมาจาก การที่ World Economic Forum อัพเดตบทความดังกล่าวในวันที่ 26 พฤศจิกายน เพื่อนำข้อมูลสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสโควิด ที่อัพเดตล่าสุดเข้าไปรวมเนื้อหาของบทความด้วย โดยในบทความดังกล่าวจะระบุชัดเจนว่า “เผยแพร่ครั้งแรก 12 กรกฎาคม 2021 และอัพเดตในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2021 เพื่อใส่ข้อมูลสายพันธุ์ B.1.1.529 (โอไมครอน) เข้าไปด้วย”
สรุป : โควิดสายพันธุ์โอไมครอน ถูกค้นพบในวันที่ 24 พ.ย. 2564 ไม่ใช่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ความเข้าใจผิดเกิดจากการอัพเดตบทความของ World Economic Forum
เว็บไซต์บทความ WEF ล่าสุด
https://www.weforum.org/agenda/2021/11/how-scientists-detect-new-covid-19-variants/
มีการระบุข้อความเพิ่มว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าวัคซีนป้องกันจะมีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ B.1.1.529 เหมือนกับสายพันธุ์อื่นๆ” และมีการนำ แผนผังกราฟิกเดิมออก
เว็บไซต์บทความ WEF เวอร์ชั่นวันที่ 12 ก.ค. 64
ซึ่งไม่มีข้อมูลสายพันธุ์โอไมครอน และมีแผนผังกราฟิกเปรียบเทียบการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศต่างๆ
อ้างอิง สำนักข่าวรอยเตอร์ส https://www.reuters.com/article/factcheck-wefarticle-omicron-idUSL1N2SI0CT