นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงประเด็นที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายชื่อบุคคลสัญชาติอินเดียในเที่ยวบินจากอินเดียเข้าประเทศไทยวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงนิวเดลี และเชื่อมโยงกับรายงานข่าวว่า มีกลุ่มคนอินเดียใช้บริการเครื่องบินเช่าเหมาลำเข้าประเทศไทยในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา-2019 ที่อินเดีย ว่า ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนข้างต้นเกิดจากการแปลข่าวที่ตีพิมพ์โดยสำนักข่าวต่างประเทศผิด ทำให้มีการตีความว่า มีกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีฐานะร่ำรวยประสงค์จะเช่าเหมาลำเที่ยวบินโดยสารจากประเทศอินเดียมายังประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยเนื้อข่าวระบุแต่เพียงมีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอินเดียประสงค์จะเดินทางไปยังเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และมีบางส่วนได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้าไทยจากอินเดียแต่อย่างใด
กรณีกลุ่มบุคคลสัญชาติอินเดียที่เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมาที่ปรากฏรายชื่อ เป็นการเข้ามาตามระบบซึ่งได้จองไว้ล่วงหน้าแล้ว มิได้เข้ามาในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ซึ่งจากสถานการณ์ระบาดในอินเดียขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ในอินเดียดำเนินการยกเลิกและชะลอการออกใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry – COE) แก่บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยแล้วและผู้เดินทางทุกคนเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัวตามมาตรการของทางสาธารณสุข
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ทอท. ได้ตรวจสอบแล้วขอยืนยันว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีเครื่องเช่าเหมาลำเดินทางจากอินเดียมายังประเทศไทยแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าภารกิจการรับเที่ยวบินจากประเทศอินเดียในเวลานี้มีเพียงส่วนการรับคนไทยกลับบ้าน ตามภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งคนไทยจะเข้ามาได้จะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า พร้อมยืนยันผู้โดยสารทุกคนต้องผ่านมาตรการคัดกรองที่ท่าอากาศยาน
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ยืนยันว่าไม่มีเครื่องบินเช่าเหมาลำโดยเศรษฐีชาวอินเดีย ขออนุญาตทำการบินมาที่ CAAT เพื่อเข้ามายังประเทศไทยตามที่ประชาชนเป็นกังวล ส่วนการเดินทางโดยเครื่องบินปกติจากสายการบินของประเทศอินเดียที่ขออนุญาตเข้ามายังประเทศไทย ปัจจุบันมีเที่ยวบินลักษณะนี้สัปดาห์ละหนึ่งเที่ยวบิน ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้ามาได้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์เฉพาะบุคคลตามข้อยกเว้นเท่านั้น รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวอย่างเคร่งครัด